xs
xsm
sm
md
lg

“น้องน้ำ” จัดเต็ม ศก.เดี้ยง 1 ล้าน ลบ.“ทองมา” จ้าก “พฤกษา” โคม่าเจ็บจริง-เจ็บนี้อีกนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.คาด ผลกระทบจากน้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจเสียหายมากถึง 1 ล้านล้านบาท มั่นใจมาตรการฟื้นฟูภาครัฐจะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติได้ ด้านบิ๊กอสังหาฯ “พฤกษา” ยอมรับภาวะโคม่า “ทองมา” กัดฟันปรับแผนสู้วิกฤต เน้นบริหารเงินสด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่นานกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง และโรงงานนอกนิคมฯ เช่น ในพื้นที่ จ.ลพบุรี มีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 ล้านบาท ส่วนความเสียหายในส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ขายสินค้าไม่ได้ ต่อเนื่องไปจนถึงด้านการส่งออกและการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนตามห่วงโซ่การผลิตที่หายไป เสียหายมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น หากพูดถึงความเสียหายรวมทั้งหมดอาจจะมากถึง 1 ล้านล้านบาท

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ความรุนแรงของน้ำท่วม ทำให้นักลงทุนถอดใจ แต่เมื่อภาครัฐมีมาตรการที่จะช่วยเหลือที่ชัดเจน ทำให้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในไทย ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ที่ได้รับผลกระทบเชื่อมั่นว่า จะฟื้นฟูไปกับประเทศไทยได้

ด้าน นายทองมา วิจิตรพงษ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS ผู้ดำเนินธุรกิจอสังหาแนวรายรายใหญ่ ยอมรับว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนธันวาคม 2554 บริษัทต้องประคองตัวให้อยู่รอด โดยบริหารกระแสเงินสด รายรับ รายจ่ายให้ได้และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

“ยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างรุนแรง มีโครงการที่จมน้ำมากกว่า 70 โครงการหรือประมาณ 50% ของโครงการที่ดำเนินการอยู่”

ขณะที่ผลกระทบด้านรายได้ บริษัทต้องเลื่อนการรับรู้รายได้ปีนี้ออกไป 8 พันล้านบาท ทำให้รายได้ปีนี้เหลือเพียง 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้เมื่อต้นปีที่ 3 หมื่นล้านบาท เฉพาะเดือน พ.ย.-ธ.ค.รายได้ที่รับรู้จากโครงการต่างๆ ที่น้ำไม่ท่วมเพียง 40% เท่านั้น

“เฉพาะไตรมาสที่ 4 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เข้ามา 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ที่ประเมินตอนนี้คาดว่าจะเหลือเพียง 3-3.5 พันล้านบาทเท่านั้น และคาดว่า จะต่อเนื่องถึงปลายไตรมาสแรกปีหน้า”

นายทองมา ยอมรับว่า สถานการณ์ขณะนี้ในมุมมองของบริษัทแล้วถือว่าวิกฤต และหนักว่าวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เนื่องจากขณะนั้นธุรกิจของบริษัทยังเป็นเอสเอ็มอี มีรายได้ประมาณ 800 ล้านบาท แต่ขณะนี้ขนาดบริษัทใหญ่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท ผลกระทบจึงมีมาก

อย่างไรก็ตาม แผนบริหารธุรกิจของบริษัทในช่วงนี้จะต้องใช้มาตรการประคองตัว รักษาระดับเงินสด และเงินสดจ่าย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประคับประคองธุรกิจให้รอด จนกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาฟื้นตัว คาดว่า จะเป็นปลายไตรมาสแรกของปี 2555

การแก้ปัญหาต้องประคองตัวตั้งแต่เดือนนี้ เดือนหน้า จนกว่าสถานการณ์จะผ่อนคลาย หัวใจของการอยู่รอด คือ การบริหารเงินสดรับและจ่ายให้อยู่ได้ จนเข้าสู่ภาวะปกติ

นายทองมา กล่าวว่า การบริหารของบริษัทในช่วงนี้จะเน้นเป็นพิเศษ มีการเรียกประชุมผู้บริหารระดับ 18 คีย์แมนทุกวัน เพื่อหารือเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ พิจารณาภาวะตลาด ดูการเปลี่ยนแปลงของตลาดและลูกค้า หากผ่านช่วงนี้ไปได้ก็หายห่วง ขณะที่การบริหารจะเน้นโครงการที่น้ำไม่ท่วม เจรจาลูกค้าให้โอนบ้าน เพื่อหารายได้เข้าบริษัท

ส่วนแผนการบริหารสภาพคล่องที่นำมาใช้ ได้แก่ การเลื่อนการลงทุน ที่ดำเนินการแล้วคือเลื่อนโครงการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดเป็นกลางปีหน้า รอให้บริษัทแข็งแรงอีกครั้งแล้วจึงลงทุนใหม่ การชะลอก่อสร้าง ที่ดำเนินการขณะนี้ คือ โครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เมื่อหลังพ้นวิกฤต 3 เดือน จึงกลับมาเร่งการก่อสร้าง และสุดท้ายคือ การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แผนการที่ทำทั้งหมด เพื่อรักษาสภาพคล่อง บริหารเงินสด รับและจ่าย ประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้

นายทองมา กล่าวเสริมว่า เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป คือเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้ากลับมาโอนบ้าน และซื้อบ้านในโครงการของบริษัทอีกครั้ง ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น เช่น หากโครงการใดที่ยังไม่ก่อสร้าง ก็อาจจะต้องเพิ่มระดับของการถมที่ดินให้สูงกว่าระดับถนน การสร้างรั้วรอบโครงการเพื่อการป้องกันน้ำท่วม รวมไปถึงการวางระบบไฟฟ้าและน้ำประปาใหม่ทั้งหมด ดังนั้น เราต้องทำเพื่อให้ลูกค้ากลับมาเชื่อมั่นและกลับมาซื้อบ้านของเรา

สำหรับแผนธุรกิจในปีหน้า จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินเป้าหมายรายได้และกำไร แต่มั่นใจว่ายอดโอนที่เลื่อนการรับรู้รายได้ในปีนี้ 8 พันล้านบาท จะกลับมาทั้งจำนวน เนื่องจากเชื่อว่าลูกค้าจะกลับมามั่นใจเมื่อน้ำลดลง แต่คงต้องให้เวลา

ปกติช่วงนี้เชื่อว่าจะเป็นช่วงของการวางแผนธุรกิจประจำปีสำหรับปีหน้า แต่พอเกิดเหตุน้ำท่วม เลยต้องเลื่อนไปปรับแผนในเดือน ก.พ.และ มี.ค.ปีหน้า และคงต้องปรับเรื่อยๆ ส่วนพฤติกรรมของลูกค้าย้ายถิ่นฐานไปที่น้ำไม่ท่วม เป็นแค่ภาวะชั่วคราว สุดท้ายก็อยู่ที่ความมั่นใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น