สมาคมไลฟ์สไตล์ยื่น 5 ข้อเสนอต่อรัฐบาลเร่งช่วยเหลือ ได้แก่ สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ป้องกันแรงงานขาดแคลน กองทุนฟื้นเครื่องจักร แหล่งวัตถุดิบทดแทน และฟื้นความเชื่อมั่น หวั่นไม่ได้รับความใส่ใจกระทบอุตสาหกรรมพังทั้งระบบ
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดูจากยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี รวมถึง ปัจจุบันสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในฐานสินค้าเชิงสร้างสรรค์ ที่มีระดับราคาไม่สูงเกินไป ซึ่งตลาดประเทศอาเซียน และอาเซียน +3 +6 ให้การตอบรับดีมาก อีกทั้ง จากเศรษฐกิจของยุโรปที่ถดถอย กลายเป็นโอกาสให้ประเทศยุโรปหันมาซื้อสินค้าของไทยมากยิ่ง เหล่านี้ รวมกันทำให้ที่ผ่านมา อนาคตของกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์กำลังก้าวไปอย่างสดใส
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของอุทกภัย กระทบต่อภาคธุรกิจนี้อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะทั้งด้านการตลาด และการผลิต ดังนั้น ทางสมาคมฯ ได้รวบรวมความต้องการของสมาชิกกว่า 1,500 ราย เพื่อเสนอ 5 มาตรการต่อรัฐบาล ผ่านทางกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ 5 ข้อเสนอ ได้แก่ 1. ต้องการเงินกู้พิเศษ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ วงเงินรวม 5 พันล้านบาท โดยขอให้มีเงื่อนไขผ่อนปรนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย และรวดเร็ว ภายในเดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากหากได้รับเงินเสริมสภาพคล่องช้า จะยิ่งทำให้ความเสียหายทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
2.หามาตรการรองรับปัญหาแรงงานขาดแคลน เนื่องจากผลกระทบของน้ำท่วม ทำให้แรงงานย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก รวมถึง นโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน และ 15,000 บาทต่อเดือน อาจมีผลให้แรงงานตัดสินใจไม่กลับเข้าทำงานเดิม
3.ต้องการให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูเครื่องจักร และสำนักงานสำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งจะก่อประโยชน์ในระยะยาว ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยประหยัดพลังงาน
4.เสนอให้ภาครัฐหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนแหล่งเดิมที่สูญเสียไป เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำของอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์จะอยู่ในภาคกลางซึ่งถูกน้ำท่วมกว่า 70% ดังนั้น อยากให้ภาครัฐสนับสนุนแหล่งวัตถุดิบจากภาคอื่นๆ ทดแทน รวมถึง พิจารณาลดเงื่อนไขการนำเข้าวัตถุดิบต่างชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้เร็วที่สุด
และ 5.ต้องการให้ภาครัฐ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างชาติ เนื่องจากที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเร่งผลักดัน สร้างความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยยังสามารถเป็นแหล่งผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์คุณภาพได้ดีเช่นเดิม
นายจิรบูลย์ ระบุด้วยว่า มาตรการที่ภาครัฐจะมาช่วยอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ ควรจะให้สมาคมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพื่อจะช่วยเหลือสมาชิกได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งหากภาครัฐให้ความสำคัญเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง เชื่อว่า จะทำให้แนวโน้มธุรกิจนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป โดยยอดปีหน้า (2555) คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% หรือมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท จากปีนี้ (2554) ที่มียอดขายรวมกว่า 100,000 ล้านบาท
ทว่า หากภาครัฐไม่ให้ความสำคัญ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์อย่างรุนแรงถึงขั้นพังระบบ เนื่องจากผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นระดับเอสเอ็มอีที่มีความเข้มแข็งในระดับจำกัด หากปล่อยให้เผชิญปัญหาโดยลำพัง ความเสียหายจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
“4-5 ปีที่ผ่านมา พวกเราเจอผลกระทบต่อเนื่องมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการปิดสนามบิน การประท้วง เผาเมือง และล่าสุดปีนี้ คือ อุทกภัย ที่ทำให้อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ เสียหายไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท จะกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากภาครัฐ ไม่ใส่ใจเข้ามาช่วยเหลือพวกเรา ตาม5 ข้อเสนอดังกล่าว จะทำให้ผลกระทบกระจายเป็นลูกโซ่ จนอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ต้องสูญพันธุ์ทั้งระบบ” นายจิรบูลย์ กล่าว