xs
xsm
sm
md
lg

ส.ไลฟ์สไตล์จี้แบงก์รัฐปรับรูปแบบ ปล่อยกู้เห็นผลรูปธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์
ส.ไลฟ์สไตล์วอนสถาบันการเงินภาครัฐ ปรับรูปแบบพิจารณาปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง เน้นต้องลดเงื่อนไข อนุมัติว่องไวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมดึงภาคเอกชนมีส่วนร่วมพิจารณา ขู่ละเลย วิกฤตอาจรุนแรงถึงขั้นพังทั้งระบบ

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดูจากยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี รวมถึง ปัจจุบันสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในฐานสินค้าเชิงสร้างสรรค์ ที่มีระดับราคาไม่สูงเกินไป ซึ่งตลาดประเทศอาเซียน และอาเซียน +3 +6 ให้การตอบรับดีมาก อีกทั้ง จากที่เศรษฐกิจยุโรปถดถอย กลายเป็นโอกาสให้ประเทศแถบยุโรปหันมาซื้อสินค้าของไทยมากยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของอุทกภัย กระทบต่อภาคธุรกิจนี้อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะทั้งด้านการตลาด และการผลิต ดังนั้น ทางสมาคมได้รวบรวมความต้องการของสมาชิกกว่า 1,500 ราย โดยสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด คือ เงินกู้เร่งด่วน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง และที่สำคัญขอให้มีเงื่อนไขผ่อนปรนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย และรวดเร็ว ภายในเดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากหากได้รับเงินเสริมสภาพคล่องล่าช้า จะยิ่งทำให้ความเสียหายทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาจรุนแรงจนภาคธุรกิจนี้ สูญพันธุ์ทั้งระบบ

นายจิรบูลย์ เผยด้วยว่า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทว่า ในความเป็นจริง การปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินได้ยากมาก เนื่องจากแต่ละสถาบันการเงินยังใช้กรอบพิจารณาในแง่ป้องกันความเสี่ยงสูงอยู่ ซึ่งในครั้งนี้ หากการพิจารณายังเป็นไปในทิศทางเดิม จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์อย่างรุนแรงถึงขั้นตายหมู่ และพังระบบ ดังนั้น อยากให้สถาบันการเงินของรัฐ ปรับรูปแบบการพิจารณา อีกทั้ง ควรดึงสมาคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวก สามารถพาผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

“4-5 ปีที่ผ่านมา พวกเราเจอผลกระทบต่อเนื่องมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการปิดสนามบิน การประท้วง เผาเมือง และล่าสุดปีนี้ คือ อุทกภัย ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด จนทำให้กลุ่มไลฟ์สไตล์ เสียหายไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท จะกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนโยบายช่วยเหลือที่ภาครัฐออกมาอาจดูสวยหรูมาก แต่ถ้าสถาบันการเงินภาครัฐ ยังพิจารณาปล่อยกู้ในรูปแบบเดิมๆ ผลกระทบกระจายเป็นลูกโซ่ จนอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ต้องสูญพันธุ์ทั้งระบบ” นายจิรบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ ทาง สมาคมเตรียมจะเข้าหารือกับสถาบันการเงินของรัฐต่างๆ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และธนาคารกรุงไทย เพื่อจะหาแนวทางสนับสนุน และเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป

นอกจากนั้น ทางสมาคมยังได้เสนอแนวทางเยียวยาอื่นๆ ต่อภาครัฐ ผ่านกระทรวงพาณิชย์ ทั้งในด้านมาตรการรองรับปัญหาแรงงานขาดแคลน เนื่องจากผลกระทบของน้ำท่วม ทำให้แรงงานย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก มาตรการเร่งฟื้นฟูแหล่งวัตถุดิบที่สูญเสียไป รวมถึง ต้องการให้ภาครัฐ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างชาติ โดยขอให้เป็นการสร้างเชื่อมั่นเจาะจงเป็นรายสาขา เพราะแต่ละอุตสาหกรรมจะมีกลุ่มลูกค้าของตนแตกต่างกันไป

นายจิรบูลย์ ย้ำด้วยว่า การช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ ควรจะให้สมาคมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพื่อจะช่วยเหลือสมาชิกได้ตรงความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งหากภาครัฐให้ความสำคัญเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง เชื่อว่า จะทำให้แนวโน้มธุรกิจนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป โดยยอดปีหน้า (2555) คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% หรือมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท จากปีนี้ (2554) ที่มียอดขายรวมกว่า 100,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น