xs
xsm
sm
md
lg

"โฆสิต" ชี้ ภัยพิบัติเป็นปัจจัยเสี่ยง ศก. หอการค้าฯ ตำหนิรัฐแก้ปัญหารายวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"โฆสิต" ชี้ ปัญหาภัยพิบัติถือเป็นปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ทั้งต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่แบงก์ต้องให้ความสำคัญในการทำแผนธุรกิจในปี 55 พร้อมประเมินผลกระทบจะเห็นชัดไตรมาส 1 ปีหน้า "หอการค้าฯ" ประเมินการแก้ปัญหารัฐยังสอบไม่ผ่านเรื่องการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ เพราะข้อมูลต่างๆ ไม่มีความชัดเจน มีการประเมินสถานการณ์วันต่อวัน และคณะกรรมการมีหลายชุดเกินไป และทำงานซ้ำซ้อนกัน

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ในปี 2555 ภัยธรรมชาติ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทางธุรกิจและเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะได้สร้างความเสียหายมาก ดังนั้นการทำแผนธุรกิจจึงจะละเลยประเด็นนี้เหมือนอดีตไม่ได้ และคาดว่าผู้ประกอบการที่ประสบภาวะน้ำท่วมจะเริ่มกลับมาทยอยเปิดการผลิตได้ในตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2555 แต่การฟื้นฟูธุรกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในครึ่งปีแรกของปี 2555 หรือใช้เวลาถึง 6 เดือน

นายโฆสิตประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำหนดการประชุมรอบสุดท้ายปีนี้วันที่ 30 พ.ย. คงจะไม่ปรับขึ้นอีก แต่จะมีการปรับลดลงจากระดับ 3.50% ต่อปีหรือไม่ คงต้องพิจารณา 2 ปัจจัย คือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทั้งสองปัจจัยขณะนี้ยังไม่นิ่ง

สำหรับสินเชื่อของธนาคารในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ยังคงขยายตัวได้แม้เกิดภาวะน้ำท่วม เนื่องจากยังมีแรงส่งที่ดีในช่วง 3 ไตรมาสก่อนหน้า แต่ยอมรับว่าภาวะน้ำท่วมจะมีผลกระทบต่อสินเชื่อในไตรมาสแรกปีหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดสินเชื่อทั้งปี 2554 ยังคงขยายตัวได้ตามเป้าที่ 8%

ด้านนายวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามมาตรการให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนของภาครัฐขึ้น ซึ่งมีตนทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานชุดดังกล่าว โดยหอการค้าเสนอให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) อย่างเป็นรูปธรรม เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำประกันภัยความเสียหายไว้ ทั้งนี้ คาดว่าในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การค้า และอื่นๆ เสียหายไปแล้วประมาณ 1.6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ หอการค้ายังห่วงเรื่องการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทางกรมสรรพากรจะพิจารณายืดเวลาการชำระภาษีออกไปจากเดิมอีก เพราะบริษัทต่างๆ ขาดสภาพคล่อง หากจะให้กู้เงินเพื่อนำมาจ่ายภาษีจะเป็นการซ้ำเติมภาคเอกชนเกินไป

"รัฐบาลยังสอบไม่ผ่านเรื่องการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้เพราะข้อมูลต่างๆ ไม่มีความชัดเจน มีการประเมินสถานการณ์วันต่อวัน และคณะกรรมการมีหลายชุดเกินไปและทำงานซ้ำซ้อนกันทางเราเกรงว่ามาตรการที่ภาครัฐจะนำมาช่วยเหลือเอกชนจะทำได้ไม่จริง มีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค จึงต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามการดำเนินการของภาครัฐ"

สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งทำคือการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพราะหากไม่ทำเป็นรูปธรรมต่างชาติจะแห่ไปลงทุนประเทศอื่นที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มากกว่า โดยเฉพาะในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของบริษัทรับประกันภัยด้วยเพราะอาจไม่รับทำประกันให้กับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ผ่อนปรนเงื่อนไขกรณีให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าค้ำประกันสินเชื่อของผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อมีความคล่องตัว ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องต้องหารือกันให้จบในสัปดาห์หน้า เพราะเมื่อน้ำลดแล้วโรงงานต้องการเงินมาฟื้นฟูซ่อมแซม
กำลังโหลดความคิดเห็น