รองโฆษก ปชป.ซัด พท.ไร้มารยาท ฉวยโอกาสช่วงชุลมุน แก้ พ.ร.บ.กลาโหม หวังช่วยนายใหญ่แทรกแซงกองทัพ ท่ามกลางความทุกข์ยากของคนไทย ไล่กลับไปออก กม.ป้องกันภัยพิบัติ มีประโยชน์มากกว่า แฉช่องดึงผู้ทรงคุณวุฒิภาคพลเรือน หวังเอี่ยวโยกย้ายทหาร
วันที่ 28 ต.ค.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรที่มี พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้หยิบยกญัตติเพื่อพิจารณาศึกษาข้อดีข้อเสียของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 รวมถึงแนวทางในการยกเลิกและแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ว่า ตนเห็นว่า เป็นความพยายามที่เร่งรีบจนลนลาน และไร้ซึ่งกาลเทศะเป็นอย่างยิ่ง เพราะเลือกฉวยโอกาสชุลมุนตอนที่พี่น้องประชาชนชาวไทยกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส กับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่หลายจังหวัดในประเทศไทย แทนที่จะเลือกนำปัญหาหรือหยิบยกข้อกฎหมาย หรือร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติธรรมชาติและแนวทางการแก้ไขมาพิจารณาก่อน แต่กลับสาละวนอยู่กับการมุ่งแก้ไขกฎหมายเพื่อแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยเอาเรื่องความเป็นประชาธิปไตยมาอ้างเป็นเกราะป้องกัน
นายสกลธี กล่าว่า อยากเรียนว่ากฎหมายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้หรือไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ฉบับไหนก็ล้วนแก้ไขได้ทั้งสิ้นเพียงแต่จังหวะเวลาและวัตถุประสงค์ต้องถูกกาละเทศะ ไม่เป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนๆ เดียว และต้องไม่เป็นการเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจนทำให้หน่วยงานเสียระบบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต โดยเฉพาะการที่กรรมาธิการฯ จากพรรคเพื่อไทยได้มุ่งเน้นที่จะเข้าไปแก้ไขมาตรา 42 ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารระดับสูง ซึ่งประกอบไปด้วย รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม (ถ้ามี) ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพบก เรือ และอากาศ โดยเสนอให้มีการนำทรงคุณวุฒิที่มาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่เป็นพลเรือนเข้ามาแทนผู้บัญชาการเหล่าทัพบก เรือและอากาศ
นายสกลธี กล่าวว่า จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าการมุ่งนำผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นพลเรือนเข้ามาแทนที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้นเป็นการมุ่งเข้าไปแทรกแซงกองทัพอย่างชัดเจน และจะทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทหารระดับสูงต้องไปอิงกับฝ่ายการเมืองผ่านการแทรกแซงของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว
เห็นว่า ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่หวาดกลัวและต้องการเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหารอย่างชัดเจนควรนำการเมืองออกจากการทหาร เพราะถ้าท่านไม่อยากให้ทหารมายุ่งกับการเมืองท่านก็ไม่ควรไปยุ่งกับกิจการของทหาร ควรที่จะเร่งสร้างผลงานในฐานะรัฐบาลและดูแลคนของพรรคท่านไม่ให้ไปจาบจ้วงสถาบันและทุจริตคอร์รัปชันจะดีกว่า