ASTVผู้จัดการรายวัน - ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.ร่วงต่ำสุดในรอบ 28 เดือน เหตุผู้บริโภคช็อกเหตุการณ์น้ำท่วม กังวลปัญหาค่าครองชีพ และเศรษฐกิจโลก ส่วนผลกระทบน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจไทย พังแล้ว 3.4 แสนล้านบาท ฉุดจีดีพีปีนี้โตเหลือแค่ 1.5% เผย หากนิคมฯ บางชัน ลาดกระบัง จมอีก และกรุงเทพฯ ท่วมหมด จีดีพีอาจเหลือแค่ 0.5-1% เท่านั้น ด้านหอการค้าไทยยันประชุมหอการค้าทั่วประเทศ 9-11 ธ.ค.นี้ ชูน้ำท่วมเป็นวาระชาติ
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.2554 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 62.8 ลดลงจากเดือน ก.ย.ซึ่งอยู่ที่ 72.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน เท่ากับ 63.7 ลดลงจาก 73 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เท่ากับ 90.9 ลดลงจาก 100.3 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 72.4 ลดจากเดือน ก.ย.ที่ 81.8 ต่ำสุดในรอบ 28 เดือนนับจาก ก.ค.2552 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน 53.6 ลดจาก 63.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 79.0 ลดจาก 87.8
ปัจจัยลบที่ทำให้ความเชื่อมั่นในเดือน ต.ค.ลดลง ที่สำคัญมาจากผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 ลดลงเหลือ 2.6% จากเดิม 4.1% ผู้บริโภคมีความกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวสูง ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และความไม่มั่นใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังน้ำท่วมคลี่คลาย
ส่วนปัจจัยบวกในเดือน ต.ค.ก็มีอยู่ แต่ไม่ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นให้ดีขึ้นมากนัก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.5% การค้าระหว่างประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง มาอยู่ที่ 30.891 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นเดือน ต.ค.ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น 58.54 จุด มาอยู่ที่ 974.75 จุด ณ สิ้นเดือน ต.ค.และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ต.ค.เท่ากับ 92 ลดลงจาก ก.ย.ที่ 106.4 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ เท่ากับ 73.6 ลดลงจาก 83 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เท่ากับ 91.3 ลดลงจาก 104.1 ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (SMEs) เท่ากับ 83.1 ลดลงจาก 89.4
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงอย่างแรง เป็นผลมาจากผู้บริโภคช็อก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ขยายตัวอย่างชัดเจน โดยตั้งแต่เกิดสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ยังไม่มีเหตุการณ์ใดที่กระทบต่อความรู้สึกของผู้บริโภคอย่างมากเหมือนในครั้งนี้ ส่งผลให้แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน พ.ย.มีแนวโน้มจะลดลงอีก แต่หากรัฐบาลสามารถกระตุ้น ออกมาตรการเยียวยา และเข้าไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ในเดือน ธ.ค.ดัชนีความเชื่อมั่นอาจพลิกฟื้นกลับขึ้นมาอีกได้ และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2555
ส่วนการประเมินผลกระทบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ 25 ก.ค.-10 พ.ย.2554 เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว 3.46 แสนล้านบาท โดยแยกเป็นภาคเกษตร 8.5 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรม 1.99 แสนล้านบาท ท่องเที่ยว 2.5 หมื่นล้านบาท การค้า 2.99 หมื่นล้านบาท และอื่นๆ อีก 6 พันล้านบาท และส่งผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย 3.1-3.4% ทำให้จีดีพีปีนี้เติบโตได้ 1.5-2.5%
“คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะโตได้ 1.5-2.5% ภายใต้เงื่อนไขมีการฟื้นฟูประเทศได้เร็วในเดือนธ.ค.เป็นต้นไป แต่หากการฟื้นฟูทำได้ช้า และยังมีปัญหาหนี้ยุโรปอีก เศรษฐกิจปีนี้ก็อาจจะโตได้ไม่ถึง 1.5% โดยมีสถานการณ์น้ำท่วมที่กระทบต่อเศรษฐกิจสูงสุด ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจอนาคต หากรัฐบาลบริหารจัดการน้ำได้รวดเร็ว โดยทำให้เศรษฐกิจในปี 2555 กลับมาขับเคลื่อนได้ตามปกติตั้งแต่เดือน ก.พ.-มี.ค.มีโอกาสทำให้จีดีพีปี 2555 เติบโตได้ 4-5% แต่มีเงื่อนไขว่าเศรษฐกิจโลกต้องไม่พลิกผันไปจากนี้” นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ยังได้ประเมินผลกระทบอีกว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางชัน จะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก 3.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดความเสียหายโดยรวมเพิ่มเป็น 3.77 แสนล้านบาท แต่หากน้ำท่วมทั้งนิคมฯ บางชัน และลาดกระบัง ความเสียหายเพิ่มอีก 7.7 หมื่นล้านบาท ทำให้ความเสียหายรวมเป็น 4.23 แสนล้านบาท กระทบจีดีพี 3.8-4% หรือในกรณีร้ายสุดหากน้ำท่วมทั้ง 2 นิคม และกรุงเทพฯ จมหมดทั้ง 50 เขต ความเสียหายเพิ่มถึง 4.46 แสนล้านบาท กระทบจีดีพี 4.1-4.3% ซึ่งจะทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวได้เพียง 0.5-1.0% เท่านั้น
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยยังเดินหน้าจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 29 ที่ จ.ระยอง ระหว่างวันที่ 9-11 ธ.ค.2554 โดยหัวข้อการสัมมนาจะประกอบด้วย 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างสรรค์ประเทศไทย 2.ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหลังวิกฤตน้ำท่วม ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะระดมความเห็นและแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปีนี้อีก 3.การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืน