xs
xsm
sm
md
lg

“น้องน้ำ” ซัด ลอยกระทงหงอย! เงินหมุนแค่ 8 พันล้าน ต่ำสุดรอบ 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ลอยกระทงปีนี้เหงา! คาดยอดจับจ่ายใช้สอยวูบเหลือ 8 พันล้าน ลดลง 16.5% น้อยสุดในรอบ 5 ปี หลังคนไทยจมน้ำ เตือนรัฐเร่งฟื้นฟูประชาชนรายย่อย เหตุเข้าถึงแหล่งเงินยากกว่า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในวันลอยกระทงของปี 2554 ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ย.2554 จำนวน 1,224 ตัวอย่าง ว่า การใช้จ่ายในวันลอยกระทงคาดว่าจะอยู่ที่ 8,100 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 16.5% เนื่องจากมีสถานการณ์น้ำท่วม ถือเป็นการใช้จ่ายที่แย่ที่สุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2550 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 8,200 ล้านบาท โดยหากปีนี้ไม่มีสถานการณ์น้ำท่วม คาดว่าการใช้จ่ายน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.07 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3%

ทั้งนี้ มูลค่าที่หายไป 2,600 ล้านบาท เป็นผลมาจากเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการใช้จ่ายในช่วงลอยกระทงค่อนข้างมาก ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งจำนวนคนที่ต้องการไปลอยกระทงก็ลดลงจากปีก่อน โดยในปีนี้มีผู้ที่คาดว่าจะไปลอยกระทรวงเพียง 48.9% จากปีก่อนมี 52.7% และปี 2552 มี 75.3%

สำหรับเหตุผลที่ประชาชนไม่ไปลอยกระทง เนื่องจาก 24.2% ของผู้ตอบเห็นว่าน้ำท่วม 23.1% ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย 14.2% เศรษฐกิจไม่ดี 8.3% ไม่มีอารมณ์ไปลอยกระทง และ 7.1% กลัวอันตราย ส่วนคนที่ต้องการไปลอยกระทง เนื่องจาก 55% เพื่อขอพร 32.1% เป็นประเพณี 7.9% เพื่อผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการลอยกระทงเฉลี่ยรวม 1,225 บาทต่อคน ลดลงจากปีก่อนที่มีค่าใช้จ่าย 1,390 บาทต่อคน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเฉลี่ยใช้จ่าย 944 บาทต่อคน และผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบเฉลี่ยใช้จ่าย 1,282 บาทต่อคน ส่วนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนทุกรายการทั้ง กระทง พลุ อาหาร ดอกไม้ และค่าเดินทาง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมและเศรษฐกิจ ผู้ตอบ 42.7% ได้รับผลกระทบแล้ว 57.3% น้ำยังไม่ท่วม โดยเฉลี่ยจำนวนวันที่น้ำท่วม 16-30 วัน จำนวน 37% และ 31.45 วันจำนวน 24.2% ซึ่งผู้ตอบคาดว่าน้ำที่ท่วมอยู่ในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยนาน 2 เดือน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมาก เนื่องจากมีความเครียดมากขึ้น มีความยากในการซื้อสินค้ามากขึ้น มีการออมน้อยลง

ทั้งนี้ ผู้ตอบจำนวน 48.5% จะสามารถรับภาระในกรณีที่ไม่มีรายได้หรืองานทำในช่วงน้ำท่วมนาน 2 เดือน 29.5% นาน 1 เดือน และ 21.4% นาน 3 เดือน และหากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย 34.8% จะดำเนินการกู้ยืม 29.8% นำเงินออมออกมาใช้ 21.2% จำนำทรัพย์สินที่มี เนื่องจากผู้ตอบมองว่าการตัดสินใจดำเนินการใช้จ่ายในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะมีมากขึ้น จากการซื้ออาหารการกิน ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และการซ่อมแซมบ้านเรือน

สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ให้รัฐบาลช่วยดูแล ได้แก่ ชดเชยค่าเสียหายไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำกินหรือบ้านเรือน ทรัพย์สิน จัดหาวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านราคาถูก จัดหาอุปกรณ์ทำมาหากิน แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง เป็นต้น

“รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูประชาชนทั่วไปให้เร็วที่สุดหลังน้ำลด เพราะหากประชาชนขาดสภาพคล่องจะเกิดปัญหาหนี้นอกระบบตามมาอย่างแน่นอน เนื่องจากคนทั่วไป หรือธุรกิจขนาดจิ๋วไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล เช่น มาตรการด้านภาษี หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพราะหากประชาชนไม่ได้รับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นฟูยาก เนื่องจากไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งรัฐบาลควรจัดให้มีการปล่อยกู้ขนาดเล็ก หรือไมโครไฟแนนซ์ เช่น กองทุนหมู่บ้าน หรือธนาคารชุมชน เพื่อให้เงินกระจายเข้าสู่พื้นที่ห่างไกลมากที่สุด” นายธนวรรธน์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น