xs
xsm
sm
md
lg

รถร่วมฯ ขสมก.วิกฤตไม่มีก๊าซเอ็นจีวีใช้ สนามบินดอนเมืองมั่นใจคุมน้ำท่วมได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถใช้ก๊าซโกลาหล เอ็นจีวีขาดแคลน รถร่วมฯ ร้อง ขสมก.ประสาน ปตท.เร่งแก้ปัญหา หลังหลายที่ไม่มีก๊าซให้เติม รอคิวนาน จนกระทบบริการ เหตุต้องลดเที่ยววิ่งลงเกือบครึ่ง ทอท.เผยยอดผู้โดยสารที่ดอนเมืองพุ่งจากปกติกว่าวันละ 2 พันคน มั่นใจระบบป้องกันน้ำท่วมเอาอยู่ ด้านร.ฟ.ท.เดินรถไฟฟรีช่วงสั้นๆ 30 ขบวน ส่วนสายอีสานเลี่ยงไปใช้ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้าแทน ทช.จ่อปิดจุดกลับรถราชพฤกษ์หากน้ำขึ้นสูง

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วมฯ ขสมก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งถนนหลายสายถูกน้ำท่วม ทำให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถขนส่งก๊าซเอ็นจีวีไปยังสถานีบริการที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซได้ตามปกติ ทำให้ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.ประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยวานนี้ (18 ต.ค.) สมาคมฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติรถร่วมเอกชน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมรถเอกชนประสานกับปตท.จัดส่งก๊าซให้ตามปริมาณอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้เดือดร้อน
 
โดยผู้ประกอบการที่มีจุดเติมก๊าซของตัวเอง ปตท.ลดการส่งเหลือวันละ 2 เที่ยว จากเดิมวันละ 6 เที่ยว หากไปเติมก๊าซเอ็นจีวีที่สถานีนอกแนวท่อนานถึงถึง 10 ชั่วโมง จากที่เติมวันละ 2 รอบ ทำได้เพียงรอบเดียว และจะเสียเวลามากขึ้น หากไปเติมที่สถานีตามแนวท่อ เพราะมีรถอื่นใช้บริการด้วย ทั้งแท็กซี่ รถตู้ รถบรรทุก รถส่วนตัว จำนวนมาก และยังต้องวิ่งออกนอกเส้นทางด้วย ทำให้รถขาดระยะ เพราะต้องลดเที่ยววิ่งไปโดยปริยายวันละเกือบ 50% แล้ว และเริ่มมีประชาชนร้องเรียน เพราะรอรถนาน

“รถร่วมฯ เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมดแล้วตามนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาก๊าซไม่พอมาตลอด เพราะ ปตท.ขาดทุน แต่ขณะนี้วิกฤตมากขึ้น โดยก๊าซขาดแคลนมาตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา” นางภัทรวดี กล่าว

นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานไปยังปตท.แล้วว่า ขณะนี้มีปัญหาก๊าซเอ็นจีวีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปตท.รับปากที่จะดำเนินการจัดส่งก๊าซให้ แต่ขอให้ขสมก.รวบรวมข้อมูลจุดที่ต้องการให้ไปส่ง ในลักษณะเป็นกลุ่มๆ เพื่อความชัดเจน และแก้ปัญหาเป็นจุดๆ โดยในวันนี้ (19 ต.ค.) จะเชิญผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก. ร่วมประชุม เพื่อหาทางแก้ปัญหาและประสานข้อมูลเพิ่มเติมให้ ปตท.

นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามปกติ รถเมล์ ขสมก.จะได้รับก๊าซเอ็นจีวีเป็นลำดับแรก เพราะถือเป็นบริการประชาชน แต่ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ปทุมธานี ได้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการก๊าซเอ็นจีวีในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ เนื่องจากในปทุมธานีมีสถานีแม่ 3 แห่ง คือ ลาดหลุมแก้ว, สามโคก, เชียงรากน้อย ปริมาณก๊าซที่จัดส่งได้ประมาณ 1,100 ตันต่อวัน ซึ่งแม้ตัวสถานีไม่ถูกน้ำท่วมแต่พื้นที่โดยรอบสถานีแม่ถูกน้ำท่วม ทำให้รถบรรทุกก๊าซเอ็นจีวีไม่สามารถเข้าไปขนส่งก๊าซออกมาและส่งต่อไปยังสถานีลูกได้ โดยปตท.ได้จัดก๊าซจากสถานีแม่ฝั่งตะวันออก เช่น แก่งคอย, นิมิตใหม่ 1, 2 และลำลูกกา ส่วนที่เหลือจากความต้องการ มาป้อนเพิ่มเติมแต่ก็ยังไม่เพียงพอโดยเฉลี่ยขาดประมาณ 300-400 ตันต่อวัน จึงทำให้ต้องเสียเวลาในการรอคิวเติมก๊าซ

น.อ.กันต์พัฒน์ มังคละศิริ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 13,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 11,000 คนต่อวันและตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ มีเที่ยวบินภายในประเทศรวม 442 เที่ยวบิน ไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด โดยทอท.ได้จัดพื้นที่ด้านหน้าอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 1 สำหรับรับส่งผู้โดยสาร แก้ปัญหาที่ก่อนหน้านี้ผู้โดยสารไม่มีที่จอดรถ ส่วนอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 2 จัดเป็นศูนย์อพยพสามารถรองรับได้ 3,000 คน

อย่างไรก็ตาม ทอท.มีมาตรการป้องกันสนามบินดอนเมืองไว้หลายชั้น จึงมั่นใจว่าจะไม่ถูกน้ำท่วมแน่นอน เพราะนอกพื้นที่ตั้งของสนามบินอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 9 ฟุตแล้ว ด้านซ้ายยังมีแนวทางรถไฟสูง 3 เมตร และเกาะกลางถนนวิภาวดีเป็นผนังกั้นน้ำจากคลองเปรมประชากร ส่วนด้านขวามีคลองบางเขนซึ่งจะรับน้ำจากคลอง 1 และคลอง 2 ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการผันน้ำไปออกหลายทางเพื่อป้องกันพื้นที่กทม.อยู่แล้ว และบริเวณด้านเหนือของสนามบินมีอ่างเก็บน้ำและโรงสูบน้ำ 3 โรง สามารถสูบน้ำได้ 48,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีอีกด้วย

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แจ้งว่า วานนี้ (18 ต.ค.) ได้เปิดเดินขบวนรถไฟชานเมืองและรถไฟระยะสั้น รวม 30 ขบวน เป็นขบวนรถไฟฟรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ยังต้องการสัญจรโดยทางรถไฟ ได้แก่ ช่วงกรุงเทพฯ-ดอนเมือง-กรุงเทพฯ เดินขบวนรถพิเศษ 7 ขบวน ช่วงบางปะอิน (จังหวัดอยุธยา)-มาบพระจันทร์ (จังหวัดสระบุรี) เดินขบวนรถพิเศษ 5 ขบวน ช่วงลพบุรี-มาบพระจันทร์ เดินขบวนรถพิเศษ 10 ขบวน และช่วงจากจังหวัดเชียงใหม่-นครสวรรค์-เชียงใหม่ จัดเดินขบวนรถ 8 ขบวน ส่วนเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเดินขบวนรถรวม 20 ขบวน เลี่ยงไปในเส้นทางกรุงเทพ-มักกะสัน-ฉะเชิงเทรา เพื่อขึ้นไปคลองสิบเก้า-แก่งคอย ต่อไปยังจังหวัดภาคอีสานตอนบนที่หนองคาย และภาคอีสานตอนล่างที่จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับขบวนรถในเส้นทางสายตะวันออกและสายใต้ยังคงมีบริการตามปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น