xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ห่วง “จีดีพี” วูบกว่า 1.7% กนง.ดึงน้ำท่วมถก ดบ.19 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รมว.คลัง” ประเมินเบื้องต้น น้ำท่วมหนักกระทบจีดีพีแล้ว 1.0-1.7% แต่หากปล่อยยืดเยื้อ ความเสียหายอาจสูงกว่านี้ “ผู้ว่าฯ ธปท.” เผยยอดสินเชื่อคงค้างอุตฯ 5 นิคมใหญ่ จ.อยุธยา 6 หมื่นล้าน ถือเป็นสัดส่วนไม่มาก มั่นใจไม่เกิด “เอ็นพีแอล” เพราะมีบริษัทแม่ ตปท.ที่มีความแข็งแกร่ง พร้อมส่งสัญญาณ ประชุม กนง.19 ต.ค.นี้ อาจเพิ่มปัจจัยน้ำท่วมในการตัดสินใจดอกเบี้ย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลกระทบอุทกภัยต่อเศรษฐกิจไทย โดยประเมินว่า สถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงในขณะนี้เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 1.0-1.7% แต่อาจจะมีผลกระทบสูงกว่านี้ได้หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อ

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการหารือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และธนาคารพาณิชย์ เช้าวันนี้เกี่ยวกับปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งใน จ.อยุธยา ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.75% ของสินเชื่อรวม แยกเป็นธนาคารพาณิชย์ไทย 56% และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 44%

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาคการธนาคารสามารถดูแลปัญหาได้ดี เพราะเป็นสัดส่วนสินเชื่อไม่มาก และทาง ธปท.ได้ประสานกับธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างชาติ เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งธนาคารออกมาตรการแล้ว เช่น การผ่อนคลายการชำระหนี้ ขณะที่ ธปท.พร้อมดูแลสภาพคล่องในระบบให้มีความเพียงพอ เพื่อให้ความมั่นใจต่อภาคธนาคาร แม้เขาจะเตรียมรองรับได้ดีอยู่แล้ว ส่วนขั้นต่อไปหากต้องมีการลงทุนและต้องหามาตราการป้องกันในอนาคต ธปท.ก็จะประสานธนาคารพาณิชย์เพื่อให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป

นายประสาร เชื่อว่า สินเชื่อของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมคงไม่กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทั้งหมด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศ คงไม่ปล่อยให้กลายเป็นเอ็นพีแอล และฐานะบริษัทแม่มีความแข็งแกร่ง หลังน้ำลดก็ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้มีการเร่งการผลิต

แต่เชื่อว่าโดยรวมทั้งปีการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบจะลดลง ส่วนจะกระทบเศรษฐกิจในระยะยาวหรือไม่ ขึ้นกับการฟื้นฟูหลังภาวะน้ำท่วมคลี่คลายลงไปแล้ว เพราะขณะนี้เป็นเพียงการเยียวยาและแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนระยะยาวต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ผู้ว่าการ ธปท.ยังยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงในขณะนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่กำหนดมีขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 นี้ แม้ว่าบทบาทหลักของ กนง.ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเศรษฐกิจไม่เติบโตตามศักยภาพ ก็สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้

ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงการเติบโตเต็มศักยภาพ และมีการขาดแคลนแรงงานชัดเจน แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมก็มีการประเมินว่า เศรษฐกิจอาจจะไม่เติบโตอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ ดังนั้น ในแง่ของนโยบายการเงินก็สามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง
กำลังโหลดความคิดเห็น