xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย” เผยผลเจรจา “อิธ เพรียง” แบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิชัย นริพทะพันธุ์
“พิชัย” เผยผลเจรจา “อิธ เพรียง” แบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล “ไทย-กัมพูชา” มีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการปักเขตแดนบนบก ยันจำเป็นต้องเร่งรัด เพราะถูกทิ้งมานานเกินไป ลั่นต้องการให้ทำอย่างเปิดเผยได้แล้ว โดยไม่ต้องปิดเป็นความลับ ชี้ เกือบทำสำเร็จแล้วเมื่อปี 44 แต่เกิดปัญหาเสียก่อน โยนลูกบัวแก้วเดินหน้าเร่งรัดโครงการ


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 29 ที่กรุงบันดาร์เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน โดยยอมรับว่า ตนได้หารือกับนายอิธ เพรียง (Ith Praing) รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชาแล้ว ในระดับกว้างๆ เกี่ยวกับพื้นที่เป็นการอ้างสิทธิทับซ้อน (overlapped claiming area: OCA) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ในปิโตรเลียมทางทะเล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปักเขตแดนบนบก

นายพิชัย เชื่อมั่นว่า โอกาสที่การแบ่งปันผลประโยชน์เกิดขึ้นได้นั้นมีสูง หรือมีความเป็นไปได้สูงในการทำให้เป็นโครงการเดินหน้าต่อไป หลังจากเรื่องนี้ถูกปล่อยทิ้งคามานานแล้ว โดยอยากทำอย่างเปิดเผยให้ได้ประโยชน์จริงทั้งสองประเทศ และไม่มีการปิดเป็นความลับ

“ทั้งสองฝ่ายลงความเห็นร่วมกัน ว่า โครงการนี้น่าจะเร่งรัดให้เกิดขึ้นเป็นกระบวนการได้ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงต่างประเทศแล้วว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เมื่อกระทรวงต่างประเทศเดินเรื่องนี้ก่อนเพื่อให้เราเดินตาม และถ้าโครงการเกิดขึ้นได้จริงก็อยากฝากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าไปทำงานกับทางกัมพูชาด้วย”

นายพิชัย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเดินหน้าเจรจาแบ่งผลประโยชน์บนพื้นทับซ้อนทางทะเลนั้น จำเป็นต้องทำเพราะแก๊สในอ่าวไทยใช้สำรองอยู่นั้นมีเหลือใช้แค่ 16 ปีสูงสุด หลังจากนั้น ต้องนำเข้าแก๊สธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาใช้ทดแทนในส่วนร่อยหรอลงไปในอ่าวไทย ซึ่งปัจจุบันราคาแก๊สแอลเอ็นจีสูงกว่าราคาแก๊สได้จากอ่าวไทยถึง 2 เท่า

การเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในปิโตรเลียมทางทะเลนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปักเขตแดนบนบก และในอดีตเมื่อปี 2544 การแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลเกือบทำสำเร็จมาแล้ว เพียงแต่เกิดปัญหาเสียก่อน

ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศเข้าใจร่วมกันถึงการแบ่งปันทรัพยากรของทั้งสองประเทศ อย่างกรณีคนไทยจะยอมจ่ายค่าแก๊สหรือค่าไฟแพงขึ้นก็เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องยอมรับ

นายพิชัย ยังยกกรณีเปรียบเทียบการเจรจาครั้งนี้ว่าไม่ได้คาดหวัง เพราะการเจรจากว่าจะได้เข้าไปขุดในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้นไม่ใช่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี เพราะอย่างความตกลงร่วมมือแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างไทย กับมาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งเริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2522 กว่าจะเข้าไปขุดใช้ได้จริงเมื่อเดือนมกราคม 2548 หรือต้องใช้เวลานานถึง 26 ปี

นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาแบ่งเชตแดนชายทะเลไทย กับเวียดนาม เริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2540 กว่าสำเร็จแบ่งเขตกันได้ ซึ่งต้องใช้เวลา 11 ปี กว่าจะมีแก๊สขึ้นมาครั้งแรกในปี 2551 และฝั่งไทยมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

ส่วนผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งนี้ เนื้อหาสาระสำคัญของการประชุมฯ อยู่ที่การเชื่อมพลังงานในอาเซียน (Asean Connectivity) ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หลักในการรวมตัวของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพราะสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เป็นประเทศนำเข้าพลังงาน

ทั้งนี้ รายละเอียดในแผนแม่บทการเชื่อมโยงพลังงานให้ความสำคัญในสาขาพลังงาน 2 โครงการ คือ การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน และโครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน หากทั้งสองโครงการเกิดขึ้นได้จริง น่าจะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียนได้

ที่ประชุมครั้งนี้ เห็นว่า เรื่องพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของของอาเซียน ถ้าเรามีการจัดรูปพลังงานให้ดี ซึ่งปัจจุบันอาเซียนประสบผลสำเร็จลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองได้ 4.97%ในปี 2553 และมีเป้าจะลดให้ได้ 8% ในปี 2558 โดยระยะยาวภายในปี 2573 จะลดลงเป็น 25% ขณะที่การเชื่อมต่อหากทำได้ดี อาเซียนก็จะเดินหน้าเติบโตต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม นายพิชัย ยอมรับว่า ในอนาคตการรวมอาเซียนเป็นเออีซีกำลังจะเกิดขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้ราคาพลังงานต่างกันในอาเซียนก็จะเป็นปัญหาเกิดการลักลอบซื้อก๊าซข้ามประเทศ

ขณะที่เอกสารสรุปการประชุม ยังเพิ่มเติมว่า อาเซียนมีศักยภาพด้านพลังงานทดแทนสูงมาก และอาเซียนได้ตั้งเป้าจะพัฒนาพลังงานทดแทนให้ได้ 15% ภายในปี 2558 โดยศักยภาพพลังงานทดแทนที่เป็นเป้าหมาหลักของการพัฒนา คือ แสงอาทิตย์ พลังลม พลังน้ำ พลังงานใต้ภิภพ และพลังงานชีวมวลกับเชื้อเพลิงชีวภาพ

โดยการรวมตัวของเออีซี จะเป็นโอกาสให้ไทยเป็น Biofuel Regional Hub ซึ่งไทยเองมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพ และมีกำลังการผลิตและการกลั่นสูง อีกทั้งไทยยังตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สดวกต่อการขนส่งด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น