สภาองค์การนายจ้างฯ ชี้ ขึ้นค่าแรง 300 กระทบธุรกิจเอสเอ็มอี ต่างชาติเริ่มย้ายฐานหนีไปเพื่อบ้าน เผยกลุ่ม “ซับคอนแทรกต์” เจอเต็มเปา เพราะมีค่าแรงงานเป็นต้นทุน 100% “เผดิมชัย” ยันมีมาตรการช่วยเหลือ ทั้งมาตรการภาษี และการลดจ่ายเงินประกันสังคม
นายดรากันด์ เรสดิก ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายนายจ้าง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO กล่าวในการสัมมนาทางออกของนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท วานนี้ โดยมองว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จะกระทบต่อนายจ้าง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (เอสเอ็มอี) เพราะต้องปรับลดคนงาน โดยย้ายฐานการผลิต
ขณะนี้ พบว่า เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตกันไปบ้างแล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรให้เวลาในการปรับตัว โดยการปรับขึ้นแบบขั้นบันได เพราะการปรับลดภาษีเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น
“รัฐบาลควรมีมาตรการอื่นมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีกว่า 3 แสนแห่ง เนื่องจากมาตรการด้านภาษีกลุ่มเอสเอ็มอีไม่ได้รับด้วย เพราะไม่ได้เสียภาษี และนโยบายปรับค่าจ้าง 300 บาท ส่งผลให้บางธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นบ้างแล้ว”
ทั้งนี้ มองว่า การปรับค่าจ้างควรเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะด้วย ซึ่งเกรงว่านโยบายค่าจ้าง 300 บาท จะทำให้กลุ่มจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเสี่ยงตกงานได้ เพราะนายจ้างต้องการจ้างผู้มีประสบการณ์
ขณะที่ นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับนายจ้าง โดยขณะนี้เป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีหลายหมื่นแห่งที่กำลังประสบปัญหา รวมถึงบริษัทซับคอนแทรคต์ (sub-contract) หรือบริษัทรับเหมาช่วง เพราะจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะกลุ่มนี้มีค่าแรงงานเป็นต้นทุน ซึ่งอาจจะต้องเลิกจ้างแรงงานในกลุ่มนี้ หรืออาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างที่ถูกกว่า เช่น ประเทศกัมพูชา และในเดือนกันยายน 254 นี้ จะร่วมรวมปัญหาของนายจ้างทั้งหมดเสนอให้กับกระทรวงแรงงานนำไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
ด้าน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะยึดหลักให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือฝ่ายนายจ้างในเบื้องต้นจะมีมาตรการลดภาษี การลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งจะหาตัวเลขที่เหมาะสม และจะใช้เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ส่วนการช่วยลดต้นทุนในด้านอื่นเช่น ค่าน้ำ หรือค่าไฟ จะต้องหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังปัญหาทั้งหมดจากนายจ้างก่อน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด