รมว.คลัง มอบ ธ.ก.ส.ใส่เกียร์ลุยโครงการจำนำข้าว โครงการบัตรเครดิตเกษตรกร เพื่อให้ชาวนาพกไปซื้อ ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง เปิดวงเงินถอนได้ 70% ของมูลค่าผลผลิต คิดดอก 7% ต่อปี ชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 18 เดือน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา (วานนี) ตนเองได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล 4 เรื่อง ได้แก่ โครงการพักชำระหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย, การรับจำนำข้าว, บัตรเครดิตเกษตรกรและกองทุนหมู่บ้าน
โดยข้อสรุปเบื้องต้น ได้เห็นชอบในหลักการ 2 เรื่อง คือ โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรหรือบัตรเครดิตเกษตรกร ซึ่งเป็นบัตร Smart Card ที่ ธ.ก.ส.ออกให้กับเกษตรกรลูกค้าที่กู้เงินกับ ธ.ก.ส. จำนวนประมาณ 3 ล้านราย เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตผ่านระบบสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.(สกต.) ระบบสหกรณ์การเกษตร และร้านค้าเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส. กว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ
โดยวงเงินกู้ในบัตรไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าผลผลิตส่วนเหลือเพื่อขายของเกษตรกรผู้กู้แต่ละราย อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7) กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษไม่เกิน 18 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับที่มาแห่งรายได้ของเกษตรกร โดยสิทธิพิเศษที่ผู้ถือบัตรจะได้รับคือ ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ทั้งปลอดดอกเบี้ย 30 วัน
ส่วนโครงการพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท อย่างน้อย 3 ปี ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่มีหนี้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว 3,328,444 ราย จำนวนหนี้ 407,305 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.02 ของลูกหนี้ทั้งระบบ
ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงพิจารณากำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่มีปัญหาภาระหนักด้านหนี้สินกับ ธ.ก.ส.จำนวน 639,589 ราย จำนวนหนี้ 77,754 ล้านบาทไปก่อน โดยพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 ช่วงที่พักชำระหนี้รัฐบาล จะรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร และให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเข้าอบรมฟื้นฟูอาชีพ สร้างรายได้เสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจะใช้งบประมาณดำเนินการทั้งโครงการประมาณ 14,195 ล้านบาท
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและโครงการกองทุนหมู่บ้าน จะมีการหารือกับคณะกรรมการดูแลกำกับของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรอบการพิจารณาเบื้องต้นในเรื่องรับจำนำข้าวเปลือก ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามชั้นคุณภาพข้าวเปลือก โดย ธ.ก.ส. จะนำปัญหาอุปสรรคที่พบจากการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อป้องกันปัญหาอุปสรรคดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีก
รวมถึงการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลโครงการโดยตรง เพื่อบริหารจัดการแบบครบวงจรทั้งในเรื่อง การจำนำ การจัดเก็บข้าวเปลือก การสีแปรสภาพเป็นข้าวสาร การระบายข้าว และการปิดบัญชีรับจำนำในแต่ละฤดูกาล ส่วนหนี้เดิมที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส.รวมถึงสต๊อกข้าวเดิมที่มีอยู่ ให้คณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเข้ามาบริหารจัดการ
นอกจากนี้ ในส่วนของการรับจำนำข้าวเปลือกที่ยุ้งฉางเกษตรกร ธ.ก.ส.จะเสนอแนวทางให้ ชุมชนและสถาบันของเกษตรกร เช่น สกต.เข้ามาบริหารจัดการระบายข้าวเปลือกที่ยุ้งฉางโดยรัฐบาลสนับสนุนการแปรรูปและส่งเสริมช่องทางการจำหน่าย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรในระยะยาวต่อไปด้วย
สำหรับในส่วนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 79,255 กองทุน โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้มีการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อต่อยอดให้กองทุนหมู่บ้านนำไปขยายการลงทุน การสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้โดยจัดฝึกอบรมด้านบัญชี การบริหารจัดการด้านสินเชื่อ การเงิน การจัดทำแผนธุรกิจ การสนับสนุนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้กองทุนหมู่บ้านที่ ธ.ก.ส.เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาจำนวน 59,958 กองทุน มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 94 ของจำนวนกองทุนหมู่บ้านที่ใช้บริการกับ ธ.ก.ส.จนสามารถยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชนแล้วถึง 265 แห่ง
ดังนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โดยการโอนเงินผ่านธนาคารของรัฐตามความต้องการโดยสมัครใจของกองทุน จะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของกองทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งทาง ธ.ก.ส.มีความพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มกำละงความสามารถ