xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย” ถกลดน้ำมัน วันนี้ เอกชนมึน นโยบาย “รบ.ปู” ตอกฝาโลง “เอทานอล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิชัย นริพทะพันธุ์
รมว.พลังงาน นัดถกมาตรการลดจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ วันนี้ สั่งจังหวัดเตรียมพร้อม-ตรวจสต๊อกปั๊มทั่ว ปท.ก่อนเป่านกหวีด ดีเดย์ เอกชนโวย นโยบายที่แถลงไม่รอบด้าน เพราะอุปทาน “เอทานอล” ล้นตลาด ตอกฝาโลงพลังงานทดแทน เพราะเป้าหมายผลิตมาเพื่อผสมใช้แทนน้ำมัน ไม่ใช่เพื่อส่งออก

นายณอคุณ สุทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซิน 95 เบนซิน 91 และดีเซล โดยเบื้องต้น สั่งให้พลังงานจังหวัดเตรียมพร้อมในการตรวจสต๊อกน้ำมัน รวมทั้งสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันขายปลีก พร้อมเชื่อว่าน้ำมันจะไม่ขาดแคลนในช่วงดังกล่าว

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ตนเองเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อขอวงเงินอุดหนุนผู้ประกอบการจากมาตรการนี้ ส่วนวันที่จะขายราคาใหม่จะงดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่เวลา 24.00-06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เพื่อตรวจสต๊อกน้ำมัน ปริมาณน้ำมันที่คงเหลือก่อนที่จะจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาในภายหลัง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวถึงการแถลงนโยบายด้านพลังงานต่อรัฐสภา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเตรียมจะลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซิน 91, เบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลนั้น อาจส่งผลให้ประชาชนหันกลับไปใช้น้ำมันเบนซินมากขึ้นเช่นเดิม จะส่งผลให้การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดน้อยลงอย่างแน่นอน จนทำให้การนำเอทานอลซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ทั้งนี้ เอกชนต้องรอดูแนวทางปฏิบัติและรายละเอียดของรัฐบาล ว่า จะลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอย่างไร จะลดในส่วนของแก๊สโซฮอล์ด้วยหรือไม่ เพื่อไม่ให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ลดลงมากเกินไป

“ผมฟังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แจงนโยบายต่อรัฐบาลแล้วเดี้ยงเลย โดยเฉพาะการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่บอกว่า จะทำ 6-12 เดือน พูดไม่ชัดเลยว่าจะเอายังไง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่รู้เลยว่าจะทำให้ประชาชนหันไปใช้น้ำมันเบนซินเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้ากลับไปใช้ ก็คงทำให้การใช้แก๊สโซฮอล์ไม่ถึงฝั่งแน่ และถ้าการใช้แก๊สโซฮอล์ลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตเอทานอลที่ขณะนี้กำลังการผลิตล้นอยู่แล้ว ยิ่งล้นมากขึ้นไปอีก จึงต้องดูว่ารัฐบาลจะเอายังไงกับพลังงานทดแทนอย่างเอทานอล”

ปัจจุบันกำลังการผลิตเอทานอลโดยรวมอยู่ที่ 2.9 ล้านลิตรต่อวัน และมีการนำไปใช้เพียง 1.5 ลานลิตรต่อวัน ขณะที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น 49 ราย โดยมีการลงทุนไปแล้ว 22-23 โรงงาน ผู้ผลิตรายใหญ่ก็มีอยู่ 3-4 โรง ขนาดกำลังผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน อาทิ บริษัท เพโทรกรีน จำกัด ของกลุ่มมิตรผล ซึ่งทางรอดของผู้ผลิตที่จะทำได้ตอนนี้ คือ พยายามผลักดันส่งออกเอทานอลไปขายต่างประเทศ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็เดือดร้อนหนักแน่

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายพลังงานของรัฐบาล คาดว่า จะยังไม่ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนผลิตเอทานอล เพราะแนวโน้มพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะน้ำมันดิบราคาจะเกินกว่าระดับ 110-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างแน่นอน ดังนั้น การหาพลังงานมาทดแทน เป็นสิ่งที่จำเป็น และเห็นว่า รัฐบาลควรนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์

“มองว่า ในอนาคต น้ำมันดีเซลจะเป็นปัญหาใหญ่ แน่นอน ส่วนการที่นำน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) มาเป็นส่วนผสมก็ไม่พอ ส่วนของที่มีพออยู่แล้ว อย่างกรณีของเอทานอล ก็ไม่มีการส่งเสริมหรือนำมาใช้ กลับไปใช้สาหร่ายน้ำมันมาทดแทนไบโอดีเซล ฝันเกินไปจริงๆ เลย”

นายสิริวุทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการที่รัฐบาลมีนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจาก 20% เพิ่มเป็น 25% นั้น ก็ต้องดูว่า รัฐบาลมีแนวทางลักษณะไหน เพราะเห็นพูดถึงเพียงการลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ แต่ทางออกเห็นว่า ควรขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น