xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” ราคาคุยค่าแรง 300 ซีพี-บจ.พร้อมจ่ายเรตใหม่ ดีเดย์ 1 ม.ค.ปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กิตติรัตน์” โว ซีพี บริษัทในตลาดทุน พร้อมนำร่องขึ้นค่าแรง 300 เงินเดือน ป.ตรี 15,000 เริ่ม 1 ม.ค.ปีหน้า ยันมีแผนช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งลดภาษี ดูแลน้ำมัน คุมดอกเบี้ย แนะใครไม่ไหว ควรไปทำธุรกิจอื่น เพราะรัฐบาลไม่ถอย เตรียมทำข้าวถุงธงฟ้า อุ้มผู้บริโภค หลังจำนำทำราคาข้าวพุ่ง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันนี้ (23 ส.ค.) จะชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะการเปลี่ยนสมดุลประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน และปรับเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ที่จะเริ่มได้ในวันที่ 1 ม.ค.2555 โดยในส่วนของภาครัฐพร้อมที่จะดำเนินการตามที่ระบุไว้ ส่วนภาคเอกชน ขณะนี้รายใหญ่หลายรายพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการปรับขึ้นค่าแรง เช่น เครือซีพี และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับธุรกิจที่เหลือ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีจะเข้ามาพิจารณา ซึ่งจะเป็นไปตามขั้นตอนปกติของการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน แต่สุดท้ายแล้วธุรกิจจะต้องปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานตามนโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ธุรกิจมีความกังวลกับนโยบายดังกล่าว เพราะหลังจากแถลงนโยบาย จะมีความชัดเจนในเรื่องของการปรับลดภาษีนิติบุคคล และการดูแลราคาน้ำมัน โดยสิ่งที่อยากเห็นจากนั้น ก็คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรทบทวนนโยบายดอกเบี้ยในประเทศไม่ให้สูงขึ้น ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจ และสามารถดูแลราคาสินค้าไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นได้

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างนั้น ต้องแบ่งออกเป็นผู้ที่เสียภาษีไหว แต่ไม่ยอมเสียภาษี กลุ่มนี้รัฐบาลจะบังคับให้กลับมาเสียภาษีจากมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือ เพราะการเสียภาษีจะช่วยในเรื่องความน่าเชื่อถือของธุรกิจดีขึ้น

ส่วนผู้ที่เสียภาษีไม่ไหว จะมีมาตรการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถให้ ช่วยในการฝึกอบรม ช่วยจัดหาเครื่องจักร และเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สู่ระบบการเสียภาษี ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มที่เพิ่มประสิทธิภาพไม่ได้ อาจต้องยอมรับความจริงในการลดกำลังการผลิต หยุดการผลิต หรือเปลี่ยนไปประกอบธุรกิจอื่น เพราะรัฐบาลได้ส่งสัญญาณในการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแล้ว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ส่วนนโยบายจำนำข้าวที่รัฐบาลจะดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวหอมมะลิตันละ 2 หมื่นบาท ที่จะมีผลทำให้ต้นทุนข้าวสารปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่ำกก.ละ 10 บาท จากราคาปัจจุบันนั้น มีแผนที่จะเข้าไปอุดหนุนจัดทำข้าวถุงธงฟ้า และช่วยเหลือผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุง เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อข้าวสารได้ในราคาที่ถูกลงโดยจะเน้นในส่วนของข้าวที่คนส่วนใหญ่บริโภค ส่วนข้าวขาวชั้นดี และข้าวหอมมะลิ คงจะปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด

ทั้งนี้ ในส่วนของการรับจำนำ มั่นใจว่ารัฐบาลจะใช้เงินน้อยมาก เมื่อเทียบกับโครงการประกันรายได้ ที่ 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา ใช้เงินมากถึง 8.5 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่า ราคาข้าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อนำโครงการรับจำนำมาใช้ เพราะรัฐบาลไม่ได้กำหนดปริมาณในการรับจำนำ โดยล่าสุดราคาข้าวได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้วแม้ว่าโครงการรับจำนำยังไม่ได้เริ่มก็ตาม ส่วนข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่เหลืออยู่ประมาณ 2 ล้านตัน จะทยอยระบายข้าวออก โดยไม่ให้กระทบกับราคาตลาด ซึ่งรูปแบบการระบายจะใช้วิธีการใดบ้างนั้น กำลังศึกษา แต่จะไม่ระบายข้าวล็อตใหญ่เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมาแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น