xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง”ลุ้น300 หมื่นห้าเริ่มปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “กิตติรัตน์” เตรียมประกาศให้รัฐวิสาหกิจ องค์กรขนาดใหญ่ ขึ้นค่าจ้าง เงินเดือนปริญญาตรี มีผล 1 ม.ค. 55 ส่วนที่เหลือรอไตรภาคีเคาะ แต่จะทำให้ไว

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการค้าไทยในทศวรรษใหม่” ในโอกาสกระทรวงพาณิชย์ครบรอบ 91 ปี วานนี้ (19 ส.ค.) ว่า จะผลักดันให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนขนาดใหญ่ ปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 โดยนโยบายนี้จะมีความชัดเจนหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวไม่ใช่ประชานิยมรายชิ้น เพื่อเอาใจแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นนโยบายภาพรวมในการเปลี่ยนสมดุลประเทศไทย เพราะรัฐบาลไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่จะมีนโยบายปรับลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556 เพื่อให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วย

สำหรับภาคธุรกิจที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้น จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะทำงานควบคู่กับรับบาล ซึ่งจะมีการพิจารณาค่าจ้างให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจในแต่ละสาขา โดยจะไม่ให้ชักช้า แต่คงจะใช้ระยะเวลาบ้าง เนื่องจากการพิจารณาต้องทำตามลำดับขั้น โดยมุ่งให้ค่าจ้างสอดคล้องกับการนำร่องของการจ้างงานภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ในที่สุด

นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นจากการปรับสมดุลประเทศไทย คือ ลดการพึ่งพาการส่งออก จากปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างรวดเร็ว การพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำในการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งเพิ่มทักษะแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับทฤษฎีสองสูง โดยการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนตามที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะเมื่อเทียบอันดับการเพิ่มประสิทธิภาพกับรายได้ ศักยภาพการแข่งขันของไทยอยู่อันดับ 36 แต่รายได้ของประชาชนอยู่อันดับ 122 ซึ่งสะท้อนว่าสามารถขยับค่าแรงให้เหมาะสมกับศักยภาพในการแข่งขันได้อีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น