นักเศรษฐศาสตร์ มธ.เตือน “รบ.ปู” อัดงบ กระตุ้น ศก.ช่วงที่การลงทุนเดินหน้าได้อยู่แล้ว แนะใช้นโยบาย ดบ.บ้านหลังแรก-รถคันแรก 0% ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะแทรกแซงตลาดมากเกินไป "นิด้าโพล" ระบุ ปชช.คาดหวัง “รบ.ปู” แก้ปัญหาปากท้องได้ “คำนูณ” หนุนนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ หากทำได้จริง แต่ต้องไม่ก่อวิกฤตการเงินการคลัง ชี้ ตั้งกองทุน “มั่นคั่งฯ” ล่อแหลม-เสี่ยงสูง แต่ยังดีที่ไม่ใส่ไว้ในนโยบายเร่งด่วน
นายภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งมีจุดเริ่มจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่กำลังชะลอตัว ทำให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาระยะยาว ย่อมส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนั้นคงไม่สามารถทัดทานกระแสดังกล่าวได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงหรือไปฝืนกระแสมากไม่ได้
“เครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจขณะนี้ มองว่า การควบคุมปริมาณการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด เพราะปัจจุบันสินเชื่อของธนาคารต่างๆ มียอดสูงต่อเนื่อง ที่สำคัญเมื่อผู้บริโภค นักลงทุนมีความเชื่อมั่น จะมีการใช้จ่ายและการลงทุนสูง จึงไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังใช้เงินจำนวนมากมากระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่ควรทำ คือต้องให้นักลงทุน ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
สำหรับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยโครงการบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก นายภาณุพงศ์ กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือคนจน ผู้มีรายได้น้อย แต่การคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0 เป็นเวลาถึง 5 ปี ถือว่านานเกินไป จะมีแนวทางแบบอื่นหรือไม่ ขณะที่การซื้อรถยนต์คันแรกลดราคาลงถึง 1 แสนบาท จะเป็นการแทรกแซงตลาดมากเกินไป และเห็นว่าการใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว นับว่าเป็นสิ่งที่ดี จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า โดยเฉพาะควรจะเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนสูงขึ้นจากร้อยละ 14-15 ของงบประมาณทั้งหมด เพิ่มมาเป็นร้อยละ 25 ของงบประมาณ
ส่วนแผนการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังนั้น การกำหนดกรอบดำเนินการเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้ง เมื่อเศรษฐกิจมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบ จึงลำบากต่อการเดินตามกรอบ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ก็สามารถเลือกทำงบประมาณแบบขาดดุลได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องเร่งทำงบแบบสมดุล
ขณะที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้จัดทำนิด้าโพล เพื่อสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีที่ตนรู้จักและรัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐบาลของนางสาวนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องได้ร้อยละ 56.65 รองลงมาเป็นการแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 55.8 ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ร้อยละ 51.21 ความไม่สามัคคีของคนในชาติ ร้อยละ 34.09 การทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 24.12 ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 13.85
ทั้งนี้ ระดับความเชื่อมั่นในเรื่องความสามารถในการแก้ไขปัญหา และนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของนางสาวยิ่งลักษณ์ จากคะแนนเต็ม 10 ได้ 6.59 คะแนน
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา เพื่อรับฟังการแถลงแนวนโยบายแห่งรัฐของรัฐบาล โดยมองว่า นโยบายเร่งด่วนทั้ง 16 ข้อของรัฐบาล ซึ่งหากทำได้ทั้งหมด และไม่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินการคลัง ตนเองก็เห็นด้วย แต่ต้องใช้เงินมหาศาล อาจเป็นภาระกับงบประมาณ
ดังนั้น ต้องดูร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2555 ต่อไปว่าจะมีการโยก หรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณเดิม เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลอย่างไร สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ นโยบายจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่จะนำเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนที่เกินความจำเป็นมาทำเป็นกองทุน เพื่อนำไปลงทุนนวัตกรรมการเงินสมัยใหม่ ในเรื่องพลังงาน ถ้าจะทำจริงต้องเริ่มที่การแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้เคยมีแนวคิดที่จะทำมาสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยเปลี่ยนวิธีการลงทุนให้มีผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้น แต่นำเสนอเข้ามา 2 ครั้ง ก็ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีกลับ ดังนั้น รัฐบาลต้องชัดเจน เพราะมีความล่อแหลมและเสี่ยงสูงในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ยังดีที่ไม่ได้บรรจุในนโยบายเร่งด่วน