xs
xsm
sm
md
lg

“สุพจน์” ชงแคมเปญ “รถไฟฟ้า 20 บ.” หนุนรายได้เพิ่ม-ไม่ต้องจ่ายชดเชย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุพจน์ ทรัพย์ล้อม
ปลัด “สุพจน์” เตรียมชงแคมเปญ “รถไฟฟ้า 20 บาท” ตลอดสาย นำร่อง “บีทีเอส-เอ็มอาร์ที” ก่อนเชื่อมโยงโครงข่ายเข้าด้วยกัน คาด มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในระบบอีก 3 แสนเที่ยว/วัน จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสารรวม 5.9 แสนเที่ยว/วัน ส่งผลให้เอกชนมีรายได้เพิ่ม ภาครัฐไม่จำเป็นต้องเข้ามาจ่ายเงินชดเชย

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยจะกำหนดราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เพื่อจูงใจผู้ใช้บริการนั้น เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมจะสรุปกรอบการดำเนินการประเด็นดังกล่าวก่อนที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ หลังจากนั้นจะมีการเจรจากับเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบ คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายนั้น กระทรวงคมนาคมแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1.เมื่อ ครม.เห็นชอบและมีความชัดเจนเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะมาชดเชยรายได้ที่เอกชนต้องสูญเสียไป ซึ่งเรื่องการชดเชยนี้กระทรวงการคลัง จะเป็นผู้กำหนดที่มาของงบประมาณ ก่อนจะเสนอให้สภาพัฒน์ให้ความเห็นชอบ ถ้ากระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จ ก็จะดำเนินการในรูปแบบแรก คือ การนำระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ของบีเอ็มซีแอล มาเชื่อมต่อการคิดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายกับระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และ 2.นอกจากการนำรถไฟฟ้าใต้ดินกับแอร์พอร์ตลิงก์มารวมกันแล้ว ก็จะเจรจากับผู้บริหารบีทีเอส เพื่อนำบีทีเอสเข้ามารวมเป็นโครงข่ายในการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องการชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนนั้น โดยหลักเกณฑ์จะเป็นการชดเชยในส่วนของรายได้ที่ลดลงของเอกชน จากรายได้ปกติ เช่น เมื่อเอกชนทั้งหมดเข้าร่วมโครงการ และมีรายได้ลดลงจากวันละ 20 ล้านบาท ลงเหลือ 18 ล้านบาท เมื่อมีการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ภาครัฐก็จะเข้ามาชดเชยเงิน 2 ล้านบาทที่ลดลง ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมคิดว่าเงินที่ต้องมาชดเชย เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากการจูงใจผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้ระบบราง สามารถประหยัดเชื้อเพลิงลงได้ เงินที่ชดเชยก็ถือว่าคุ้มค่า

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม ยังเปิดเผยถึงผลการศึกษา โดยคาดว่า จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในระบบอีก 3 แสนเที่ยวต่อวัน จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสารรวม 5.9 แสนเที่ยวต่อวัน จะทำให้เอกชนมีรายได้เพิ่ม ทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องเข้ามาจ่ายเงินชดเชย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กลุ่มบีเอ็มซีแอล ผู้บริหารรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ได้ตอบรับเข้ามาแล้ว คาดว่าจะได้ความชัดเจนหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจะเริ่มดำเนินการต่อไปในอีก 2-3 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น