xs
xsm
sm
md
lg

“ดิอาจิโอ” ยุติคดียอมจ่าย $16 ล.ให้สหรัฐฯหวังจบปัญหาจ่ายสินบน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิอาจิโอ (Diageo) เครือบริษัทสุรายักษ์ใหญ่ เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง วิสกี้ “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” ยอมเสียค่าปรับมากกว่า 16 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 480 ล้านบาท) แก่ทางการสหรัฐฯ เป็นการยุติคดีที่บริษัทถูกกล่าวหา ว่า จ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ในอินเดีย, เกาหลีใต้ และ ไทย เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านภาษี ตลอดจนการจำหน่ายสุราในประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ ตามคำแถลงของดิอาจิโอจากกรุงวอชิงตัน เมื่อวานนี้ (28)

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (เอสอีซี) ระบุว่า ดิอาจิโอที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน และบริษัทในเครือ ได้จ่ายสินบนกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 81 ล้านบาท) ตลอดระยะเวลามากกว่า 6 ปี เพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านภาษี และการจำหน่ายสุรา จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ ตลอดจนสุรายี่ห้ออื่นๆ ในประเทศเอเชีย เหล่านี้

“พวกบริษัทลูกของ ดิอาจิโอ ได้จ่ายเงินอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นจำนวนหลายร้อยครั้งแก่บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติมานานหลายปีแล้ว” สก็อตต์ ฟรีสแตด ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบังคับใช้กฎระเบียบของ เอสอีซี ระบุในคำแถลง

เอสอีซี แจกแจงว่า ระหว่างปี 2003-2009 ดิอาจิโอ ได้จ่ายสินบนกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ (50 ล้านบาท) แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย หลายร้อยคน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดซื้อ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติให้จำหน่ายเครื่องดื่มของ ดิอาจิโอ ในอินเดีย

สำหรับกรณีของไทย เอสอีซี บอกว่า ดิอาจิโอ ได้จ่ายเงินใต้โต๊ะประมาณ 600,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18 ล้านบาท) แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงคนหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2004 ถึงปี 2008 เพื่อให้เขาช่วยเหลือบริษัทในการล็อบบี้เคลียร์ปัญหาข้อพิพาทด้านภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรหลายๆ เรื่อง

ส่วนในเกาหลีใต้ เครือบริษัทสุราแห่งนี้ได้จ่ายสินบน 100 ล้านวอน (2.8 ล้านบาท) แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเกาหลีใต้รายหนึ่ง เพื่อช่วยให้บริษัทได้ลดหย่อนภาษี ทั้งยังออกค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายด้านกินดื่มแก่เจ้าหน้าที่หลายรายซึ่งมีส่วนในการเจรจาเรื่องภาษีกับบริษัท

“นอกจากนี้แล้ว ดิอาจิโอ ยังได้จ่ายเงินค่าของขวัญเป็นประจำรวมแล้วเป็นจำนวนหลายร้อยครั้ง ให้แก่พวกนายทหารเกาหลีใต้ เพื่อให้บริษัทได้ธุรกิจสุรามาไว้ในมือ ตลอดจนรักษาธุรกิจเหล่านี้เอาไว้กับบริษัทต่อไป” คำแถลงของเอสอีซี กล่าว

ดิอาจิโอ ซึ่งออกมาเปิดเผยเรื่องที่ถูก เอสอีซี สอบสวนตั้งแต่เมื่อปี 2009 ได้ตัดสินใจยอมจ่ายเงินกว่า 16 ล้านดอลลาร์ เพื่อประนอมยอมความยุติคดีต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐบัญญัติว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act หรือ FCPA) ของสหรัฐฯ แต่ทั้งนี้บริษัทยังไม่ได้ยอมรับว่ากระทำผิดจริง

“ดิอาจิโอ ให้ความสำคัญกับผลการสืบสวนของ เอสอีซี และเราเสียใจต่อเรื่องนี้มาก” คำแถลงการณ์จาก ดิอาจิโอ กล่าวเอาไว้เช่นนี้

กฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) ห้ามมิให้บริษัทที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯหรือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ แม้การติดสินบนดังกล่าวจะไม่ได้กระทำในสหรัฐฯก็ตาม

ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของสหรัฐฯได้เร่งรัดการบังคับใช้รัฐบัญญัติฉบับนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น บีบบังคับให้พวกบริษัทยักษ์ อย่างเช่น ซีเมนส์ และ เดมเลอร์ ที่เป็นกิจการของเยอรมนี ตลอดจนบีเออี ซิสเตมส์ กิจการด้านกลาโหมที่ตั้งฐานอยู่ในลอนดอน ต้องยอมจ่ายเงินก้อนโตเพื่อประนอมยอมความ

สำหรับ ดิอาจิโอ นอกจาก จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ แล้ว ยังเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังๆ อย่างเช่น เบย์ลีส์, สเมียร์นอฟ วอดก้า, และเบียร์ กินเนสส์ บริษัทรายงานผลประกอบการในปีที่แล้วว่าทำกำไรได้ 1,630 ล้านปอนด์ (79,870 ล้านบาท) โดยที่สามารถเติบโตขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่สุดในเอเชียและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น