xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตสุรา “จอห์นนี่วอล์กเกอร์” ยอมจ่าย $16 ล้าน ยุติคดีติดสินบน จนท.ในไทย-อินเดีย-เกาหลีใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิอาจิโอ ยักษ์ใหญ่วงการสุราโลก
เอเอฟพี - ดิอาจิโอ (Diageo) เครือบริษัทสุรายักษ์ใหญ่ เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง วิสกี้ “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” ยอมเสียค่าปรับมากกว่า 16 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 480 ล้านบาท) แก่ทางการสหรัฐฯ เป็นการยุติคดีที่บริษัทถูกกล่าวหา ว่า จ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ในอินเดีย, เกาหลีใต้ และไทย เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านภาษีตลอดจนการจำหน่ายสุราในประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ ตามคำแถลงของดิอาจิโอจากกรุงวอชิงตัน เมื่อวานนี้ (28)

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (เอสอีซี) ระบุว่า ดิอาจิโอที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน และบริษัทในเครือ ได้จ่ายสินบนกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 81 ล้านบาท) ตลอดระยะเวลามากกว่า 6ปี เพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านภาษี และการจำหน่ายสุรา จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ ตลอดจนสุรายี่ห้ออื่นๆในประเทศเอเชีย เหล่านี้

“พวกบริษัทลูกของ ดิอาจิโอ ได้จ่ายเงินอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นจำนวนหลายร้อยครั้งแก่ประดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติมานานหลายปีแล้ว” สก็อตต์ ฟรีสแตด ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบังคับใช้กฎระเบียบของ เอสอีซี ระบุในคำแถลง

เอสอีซี แจกแจงว่า ระหว่างปี 2003-2009 ดิอาจิโอ ได้จ่ายสินบนกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ (50 ล้านบาท) แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียหลายร้อยคน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดซื้อ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติให้จำหน่ายเครื่องดื่มของ ดิอาจิโอ ในอินเดีย

สำหรับกรณีของไทย เอสอีซี บอกว่า ดิอาจิโอ ได้จ่ายเงินใต้โต๊ะประมาณ 600,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18 ล้านบาท) แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงคนหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2004 ถึงปี 2008 เพื่อให้เขาช่วยเหลือบริษัทในการล็อบบี้เคลียร์ปัญหาข้อพิพาทด้านภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรหลายๆ เรื่อง

ส่วนในเกาหลีใต้ เครือบริษัทสุราแห่งนี้ได้จ่ายสินบน 100 ล้านวอน (2.8 ล้านบาท) แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเกาหลีใต้รายหนึ่ง เพื่อช่วยให้บริษัทได้ลดหย่อนภาษี ทั้งยังออกค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายด้านกินดื่มแก่เจ้าหน้าที่หลายรายซึ่งมีส่วนในการเจรจาเรื่องภาษีกับบริษัท

“นอกจากนี้แล้ว ดิอาจิโอยังได้จ่ายเงินค่าของขวัญเป็นประจำรวมแล้วเป็นจำนวนหลายร้อยครั้ง ให้แก่พวกนายทหารเกาหลีใต้ เพื่อให้บริษัทได้ธุรกิจสุรามาไว้ในมือ ตลอดจนรักษาธุรกิจเหล่านี้เอาไว้กับบริษัทต่อไป” คำแถลงของเอสอีซีกล่าว

ดิอาจิโอ ซึ่งออกมาเปิดเผยเรื่องที่ถูก เอสอีซี สอบสวนตั้งแต่เมื่อปี 2009 ได้ตัดสินใจยอมจ่ายเงินกว่า 16 ล้านดอลลาร์ เพื่อประนอมยอมความยุติคดีต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐบัญญัติว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act หรือ FCPA) ของสหรัฐฯ แต่ทั้งนี้บริษัทยังไม่ได้ยอมรับว่ากระทำผิดจริง

“ดิอาจิโอ ให้ความสำคัญกับผลการสืบสวนของ เอสอีซี และเราเสียใจต่อเรื่องนี้มาก” คำแถลงการณ์จาก ดิอาจิโอ กล่าวเอาไว้เช่นนี้

กฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) ห้ามมิให้บริษัทที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯหรือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ แม้การติดสินบนดังกล่าวจะไม่ได้กระทำในสหรัฐฯก็ตาม

ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของสหรัฐฯได้เร่งรัดการบังคับใช้รัฐบัญญัติฉบับนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น บีบบังคับให้พวกบริษัทยักษ์ อย่างเช่น ซีเมนส์ และ เดมเลอร์ ที่เป็นกิจการของเยอรมนี ตลอดจน บีเออี ซิสเตมส์ กิจการด้านกลาโหมที่ตั้งฐานอยู่ในลอนดอน ต้องยอมจ่ายเงินก้อนโตเพื่อประนอมยอมความ

สำหรับ ดิอาจิโอ นอกจาก จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ แล้ว ยังเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังๆ อย่างเช่น เบย์ลีส์, สเมียร์นอฟ วอดก้า, และเบียร์ กินเนสส์ บริษัทรายงานผลประกอบการในปีที่แล้วว่าทำกำไรได้ 1,630 ล้านปอนด์ (79,870 ล้านบาท) โดยที่สามารถเติบโตขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่สุดในเอเชียและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น