xs
xsm
sm
md
lg

ของแพง CP หนุนค่าแรง 300 ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซีพี แนะรัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน รองรับการเปิด AEC ในปี 58 ชี้ หลังวิกฤตปี 40 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมาก เนื่องจากการลงทุนหดหายไปเกือบ 50% ปลุกผี “กองทุนความมั่งคั่ง” แนะโอนเงินสำรองระหว่างประเทศบางส่วนจัดตั้งกองทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุด เชียร์นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ การพัฒนาภาคการเกษตร ด้านชลประทาน ลอจิสติกส์ และการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 และดึงดูดการลงทุนจากนอกกลุ่มประเทศอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ (Regional Headquarter)

พร้อมทั้งกระตุ้นภาคเอกชนเร่งการลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการผลิต โดยใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจ รวมทั้งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาและงานพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย ซึ่งหลังเกิดวิกฤตปี 2540 การลงทุนของไทยมีอัตราต่ำมากจากเดิม 41.8% ของจีดีพี เหลือเพียง 25.9% จีดีพี

ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวต่ำมากเมื่อเทียบเกาหลีใต้ที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทยแต่ฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยจีดีพีของไทยเฉลี่ยก่อนปี 2540 อยู่ที่ 9.2% แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9%

นายศุภรัตน์ กล่าวว่า รัฐควรเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการโดยสร้างตลาดในประเทศ(Domestic Demand) เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้ไทยมีการปรับเปลี่ยนตลาดส่งออกจากเดิมที่เน้นตลาดส่งออกในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 60% มูลค่าการส่งออกทั้งหมดลงมากึ่งหนึ่ง แล้เวหันมาเน้นในตลาดอาเซียนและจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เพื่อให้มีรายได้เหมาะสมกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540-2553 การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเพียง 1.31 เท่า น้อยกว่าดัชนีราคาสินค้าและเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นไป 1.42 เท่า และอัตราเฉลี่ยของรายได้ประชาชาติที่ปรับขึ้นไป 1.92 เท่า ทำให้แรงงานไทยเสียเปรียบมาโดยตลอด ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำนี้ยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ด้วย ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการต่างๆเข้ามาบรรเทาผลกระทบนี้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (SME) อาทิ การลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งจัดตั้งกองทุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการSME เพื่อดูแลรายย่อยให้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องคำนึงว่าเงินทุนต่างชาติหดหาย เราต้องกล้าเผชิญความจริง เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมีฝีมือมากกว่าแรงงานราคาถูก

“ประเทศไทยมีจุดอ่อนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนลอจิสติกส์ระบบที่สูงถึง 17%จีดีพี ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำเพียง 0.25% ของจีดีพี และภาคการเกษตรหดตัวลงในช่วง 30ปีจากเดิม 20%ของจีดีพี เหลือเพียง 8% ของจีดีพี ขณะที่ภาคการเกษตรใช้แรงงานถึง 16.95 ล้านคน หรือคิดเป็น 43% ของแรงงานทั้งหมด บ่งชี้ว่าประสิทธิภาพภาคการเกษตรต่ำ ซึ่งไม่สายเกินไปที่จะเน้นการเกษตรให้กับมาเป็นเสาหลักของประเทศอีกครั้ง”

นายศุภรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ใน 3-4 ปีข้างหน้า จะมีเงินทุนไหลเข้ามาในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเอเชียเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งประชากรเกินครึ่งของโลกอยู่ที่เอเชีย ซึ่งการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นับเป็นโอกาสและสิ่งท้าทายสำหรับไทย เนื่องจากมีตลาดและฐานการผลิตใหญ่ขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และเป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนต่างชาติมาลงทุนในไทย โดยอาศัยความได้เปรียบเรื่องอาเซียนทำเอฟทีเอกับหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งการดึงดูดการลงทุนจากประเทศนอกอาเซียนนั้น จำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้า การลงทุน และการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้นักลงทุนนอกอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทย ในฐานะ Regional Headqoarter ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งปรับระบบภาษีเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ และ มาเลเซีย ที่มีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 15-16% ขณะที่ไทยมีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% โดยอาจทยอยปรับลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และปรับขอบเขตการจัดเก็บภาษีเฉพาะกำไรในประเทศ ไม่จัดเก็บกำไรหรือรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกัน ก็ลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีบีโอไอ เน้นส่งเสริมบีโอไอเฉพาะอุตสาหกรรมที่จำเป็นในระยะยาวเท่านั้น

**** ปลุกผีตั้งกองทุนความมั่งคั่ง
นอกจากนี้ ควรหาทางบริหารสินทรัพย์ของประเทศให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น โอนเงินสำรองระหว่างประเทศบางส่วนมาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Fund) ซึ่งหลายประเทศทำกัน อาทิ กองทุนเทมาเส็กจากสิงคโปร์ โดยรูปแบบการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเงินสำรองฯไปฝากได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่มีต้นทุนการบริหารจัดการสูง รวมทั้งการนำรูปแบบโฮลดิ้ง คอมพานี มาใช้บริหารการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจต่างๆของกระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ได้หมายความว่าต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

“ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีในการที่ภาครัฐต้องทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน ทั้งขึ้นค่าแรง รายได้ ลดภาษีนิติบุคคล การใช้จ่ายภาครัฐ ถ้าเลือกทำบางอย่างจะเสียของ จะสู้ประชาคมในอาเซียนไม่ได้ ถ้าสู้ต้องสู้ให้เต็มตัว ไม่ใช่กล้าๆกลัวๆ และวันนี้เราจะไม่สู้ไม่ได้แล้ว ต้องกล้าเผชิญความจริง และหาทางบรรเทาผลกระทบ อย่าหาทางไม่ทำอะไรเลย” นายศุภรัตน์ กล่าว

**ผุดโครงการต่างๆ ดันหนี้สาธารณะพุ่งไม่เกิน 55% จีดีพี
สำหรับโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาลใหม่ จะทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลและกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น ยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้ โดยในช่วง 2ปีแรกทำงบประมาณขาดดุลปีละ 4-4.5% และ 2 ปีถัดไปลดการขาดดุลเหลือ 3-3.5% จะมีวงเงินเพียงพอต่อการลงทุน 2 ล้านล้านบาท โดยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 55% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 41% ของจีดีพี ซึ่งรับได้จากเดิมที่ไทยเคยมีหนี้สาธารณะสูงสุดถึง 58% ของจีดีพี หลังจากนั้น เตรียมแผนดึงงบกลับมาสมดุลและบริหารหนี้สาธารณะให้ลดลง แต่สิ่งที่เป็นห่วงเรื่องการจัดสรรงบไปทางด้านงบประมาณประจำมากกว่างบเพื่อการลงทุน ซึ่งจะมีผลทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า และปัญหาคอร์รัปชัน
กำลังโหลดความคิดเห็น