xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้น ดบ.แตะ 3.25% ห่วงเงินเฟ้อ-รัฐโหมกระตุ้น ศก.ขาดวินัยการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กนง.ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขยับมาอยู่ที่ 3.25% ต่อปี ห่วงเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ส่งสัญญาดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นต่อไป เหตุดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ปรับให้สู่ภาวะปกติ แนะรัฐบาลใหม่ควรจัดอันดับความสำคัญของโครงการต่างๆ และคำนึงข้อจำกัดวินัยการคลัง ส่วนขึ้นค่าจ้างแรงงานต้องพัฒนาแรงงานควบคู่ไปด้วย

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ของปีนี้ มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 3.00% มาอยู่ที่ระดับ 3.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพราะมองว่าความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ฉะนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและดูแลไม่ให้คาดการณ์เงินเฟ้อสูงเกินไป

“เราได้มีการส่งสัญญาณชัดเจนมาโดยตลอดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงก็ยังติดลบอยู่ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังต้องปรับเข้าสู่ภาวะปกติและคงอยู่ในทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นต่อไป” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ทั้งนี้ แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้ไม่ต่างกับการประชุมในครั้งก่อนมากนัก แต่ที่ต่างกันออกไป คือ ภาครัฐได้ขยายมาตรการบรรเทาค่าครองชีพในบางส่วนออกไป ทำให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อลดลงได้บ้าง ถือว่าช่วยบรรเทาแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ระดับ 0.5-3% ในช่วงไตรมาส 3-4 ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่

สำหรับการกำหนดกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินของ ธปท.นั้น โดยปกติ ธปท.กับกระทรวงการคลังจะมีการหารือร่วมกันในช่วงปลายปีทุกปี เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายของปีถัดไป โดยส่วนใหญ่ประเทศที่ใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน หากช่วงแรกกำหนดเป้าหมายที่สูงแล้วจะค่อยๆ ทยอยปรับลดลงมา แต่หากมีเป้าหมายที่ต่ำอยู่แล้วก็จะไม่ค่อยมีการปรับขึ้น

ส่วนประเด็นที่มีการเป็นห่วงกันมากเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐค่อนข้างสูงตามนโยบายหาเสียงนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการกนง.และธปท.เห็นตรงกันว่านโยบายด้านการคลังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่การใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ควรมีการดำเนินนโยบายให้เหมาะสมและพิจารณาข้อจำกัดเรื่องกรอบวินัยทางการเงินและการคลัง รวมถึงความยั่งยืนทางการคลังด้วย

โดยมองว่า ภาครัฐควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่มีความจำเป็นอันดับแรกๆ ก่อน พร้อมทั้งกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เนื่องจากไทยไม่ได้มีทรัพยากรทางการเงินดำเนินการทุกอย่างได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ฉะนั้น โครงการใช้จ่ายที่ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและไม่ได้เพิ่มการแข่งขันของประเทศจะต้องระมัดระวัง หรือให้ความสำคัญรองลงมา เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อและความไม่สมดุลต่อเศรษฐกิจได้

“ไม่ว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะมีเป้าหมายอะไร สุดท้าย คือ เป้าหมายเดียวกันให้ประชาชนกินดีอยู่ดี และเศรษฐกิจขยายตัวยั่งยืนและต่อเนื่อง โดยการได้มาในสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องดำรงรักษามีวินัยการเงินและการคลังต่อไป นอกจากนี้ ทั้งนโยบายการเงินและการคลังต้องสอดประสานกัน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง”

**ระบุขึ้นค่าแรงต้องรอบคอบ**
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ว่า ค่าแรงที่กำหนดขึ้นมาใหม่หลักสำคัญต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานสามารถดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ และมีศักดิ์ศรีในสังคม อีกทั้งการพิจารณาขนาดในการปรับเพิ่มต้องสอดคล้องกับประสิทธิภาพของแรงงานด้วย เพราะไม่เช่นนั้นอาจสร้างปัญหาต่อภาคธุรกิจ ภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไป รวมถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

**คาดส่งออกโตมากกว่า 20.4%**
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยขณะนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ดี จากภาคเอกชนและแรงกระตุ้นของภาครัฐ ขณะเดียวกันจากผลการสำรวจของผู้ประกอบการมองว่าการลงทุนมีแนวโน้มที่ดี

ส่วนภาคส่งออก แม้ได้รับผลจากปัญหาเศรษฐกิจโลกบ้าง แต่ ธปท.ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ทำให้ช่วงไตรมาส 1-2 ตัวเลขการส่งออกออกมาค่อนข้างดี จึงเชื่อว่าจะเป็นแรงส่งที่ดีต่อภาคการส่งออกช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ต่อไป และมีโอกาสให้ตัวเลขการส่งออกที่ ธปท.คาดการณ์ไว้สูงกว่า 20.4% ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น