xs
xsm
sm
md
lg

ผวาการเมืองฉุดเศรษฐกิจ "ซีอีโอ" คาดอีก 6 เดือนเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลสำรวจผู้บริหารบจ.ชี้ เศรษฐกิจไทยโต 4-4.5% ขณะปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจ-การดำเนินธุรกิจ 6 เดือนข้างหน้าสูงสุดคือ เสถียรภาพทางการเมือง แนะรัฐควรลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ระบุจากภาวะตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น ส่งผลบจ.หันมาใช้เป็นช่องทางระดมทุนขยายธุรกิจ จากอดีตจะใช้กำไรสะสม ด้านบอร์ดสมาคมบจ.ตั้ง “ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” เป็นนายกสมาคมคนใหม่

นางสาวเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความคิดเป็นผู้บริหารระดับสูงของบจ. ต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2554 (CEO Survey: Economic Outlook) โดยมีผู้บริหารบจ.ตอบแบบสอบถามจำนวน 95 บริษัท ใน 9 อุตสาหกรรม คิดเป็น 65.3% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาหลักทรัพย์ (มาร์เกตแคป) ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่กว่า 80% ของผู้ตอบประมินว่าเศรษฐกิจไทยในในปีนี้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 3.5% และกว่า 1 ใน 3 คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 4-4.5% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับการสำรวจครั้งก่อน (26 ต.ค.53)

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2554 มากสุด 3 อันดับแรก คือ เสถียรภาพทางการเมือง ที่มีผู้บริหารให้น้ำหนักถึง 55% รองมาคือปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 14% และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่ผู้บริหารมีความกังวลจากสำรวจครั้งก่อนไม่มีประเด็นความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริหารบจ. จะกังวลกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มการฟื้นตัว 82% แต่มีเพียง 18% ที่เห็นหว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีกว่าเดิมและต่อเนื่องไปถึงปีหน้า และมี 21% มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าเดิมแต่ไม่มั่นใจว่าจะต่อเนื่องถึงปีหน้าหรือไม่

สำหรับการสำรวจในเรื่องมุมมองเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและธุรกิจของตนเอง ใน 6 เดือนข้างหน้านั้นผู้บริหารบจ.ส่วนใญ่ 63% มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นบ้าง ขณะที่ 30% มองว่าไม่ต่างจากเดิม ซึ่งมองภาพรวมในอุตสาหกรรมของตนพบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นไปในทิศทางเดียวกับระบบเศรษฐกิจ โดยมีผู้ตอบคิดเป็น 67% มองว่าอุตสาหกรรมของตนอีก 6 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น และผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่าธุรกิจของตนจะมีการเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรม

นางเพ็ญศรี กล่าว จากความสำรวจความกังวลใจต่อปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วง 6 เดือนข้างหน้ามากสุด 3 อันดับแรก ผู้บริหาร บจ.กังวลในเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองเกือบ 100% จากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเศรษฐกิจ รองมา คือความขัดแย้งทางสังคมซึ่งเป็นปัจจัยกังวลใหม่ ที่การสำรวจครั้งก่อนไม่มีปัจจัยนี้เลย และอันดับ 3. ราคาวัตถุดิบ ซึ่งผู้บริหารมีนโยบายในการเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก มากสุดคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อันดับสองคือการพัฒนาทักษะพนักงาน และอันดับสาม การเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ซึ่งเหมือนกับการสำรวจครั้งก่อน

ทั้งนี้จากการสำรวจในเรื่องการลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ 62% มองว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นบ้าง มีผู้ตอบ 22% ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก 14% ตอบว่าลงทุนเท่าเดิม โดยช่องทางในการะดมทุนสำหรับการลงทุนของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า นั้นผู้ตอบส่วนใหญ่ 60% ตอบว่าจะเพิ่มทุนหรือระดมทุนจากผู้ถือหุ้น ซึ่งในสำรวจที่ผ่านมาช่องทางการระดมทุนจะอยู่ในอันดับที่ 6 โดยอันดับ 1 จะเป็น การใช้กำไรสะสมและการกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ขณะนี้กลับมาเป็นช่องทางที่ได้รับการเลือกมากที่สุดอาจเป็นเพราะ ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้บจ.หันมาระดมทุน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบจ.มองว่านโยบายที่คิดว่ารัฐบาลควรนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งมีผู้ตอบมากสุดคิดเป็น 38% คือ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล จากที่มองว่าไทยมีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลสูงกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ รองมาคือ เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ มีผู้ตอบ 24% และอันดับ 3 เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ มีผู้ตอบ 13% และมีการมองว่านโยบายที่รัฐบาลควรที่จะมีการเร่งรัดดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาวนั้น มีผู้ตอบมากสุดคือ การรักษาเสถียรภาพทางการเมือง รองมา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ3 การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งคณะกรรมการสมาคมบจ.ได้มีมติแต่งตั้งนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ เป็นนายกสมาคมบจ.และตั้งกรรมการสมาคมชุดใหม่ เข้าดำรงตำแหน่งวาระปี 2554-2556 จำนวน 30 คน

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ผมในฐานะนายกสามคมบจ.พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯชุดใหม่ ซึ่งเป็นผู้บริหารมีประสบการณ์และความสามารถจากบริษัทจดทะเบียนในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลดาหลักทรัพย์เอ็มเอไอ พร้อมที่จะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อสืบสานนโยบายในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบจ. เพื่อประสานพลังอันแข็งแกร่งที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น