xs
xsm
sm
md
lg

“บรรยงค์” หักดิบ “อลงกรณ์” ส่งผลตรวจสอบสถานะ “ดีแทค” ให้ตำรวจลงมือแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บรรยงค์” หักดิบ “อลงกรณ์” ส่งผลตรวจสอบสถานะดีแทคให้ตำรวจสืบสวนต่อแล้ว ยันทำตามอำนาจกฎหมายต่างด้าว เพราะเห็นว่าการดำเนินคดี หรือกล่าวโทษให้มีความผิดตาม กม.อาญา ซึ่งมีโทษร้ายแรง และศาลสามารถสั่งให้ยกเลิกกิจการได้นั้น ต้องมีการพิสูจน์ให้ชัดเจนถึงดำเนินการได้ เพราะหากไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน เจ้าพนักงานที่ร้องทุกข์ อาจถูกร้องกลับในฐานะปฏิบัติงานไม่ชอบ ตามประมวล ม.157 พร้อมงัด ม.20 สู้อำนาจสั่งการ รมต.ได้ หากเป็นคำสั่งมิชอบ



นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบสถานะโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” โดยระบุว่า ตนเองได้ส่งผลการตรวจสอบโครงสร้างหุ้นดีแทคไปยังผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา เรียบร้อยแล้ว

สำหรับเหตุผลที่ต้องตัดสินใจเช่นนี้ เพราะกรมมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และยอมรับว่า ไม่สามารถดำเนินการตามคำสั่งของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ที่ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีแทคได้

นายบรรยงค์ กล่าวเสริมว่า สาเหตุที่ต้องยืนยันตามข้อสรุปของคณะทำงานตรวจสอบโครงสร้างดีแทค ที่สรุปให้ตำรวจไปสืบสวนสอบต่อ เพราะกรมเห็นว่าการดำเนินคดีหรือกล่าวโทษให้มีความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษร้ายแรง คือ จำคุก 3 ปี และปรับ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท และศาลสามารถสั่งให้ยกเลิกกิจการบริษัทได้นั้น จะต้องมีการพิสูจน์ให้ชัดเจนถึงดำเนินการได้ เพราะหากไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน เจ้าพนักงานที่ร้องทุกข์อาจถูกร้องกลับในฐานะปฏิบัติงานไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

กรณีของดีแทคเช่นเดียวกัน ซึ่งผลการตรวจสอบของคณะทำงานสรุปได้แค่ว่าดีแทค และผู้ถือหุ้น 7 บริษัทตามลำดับชั้นของดีแทค มีมูลอันน่าเชื่อว่าจะถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเท่านั้น จะต้องพิสูจน์ตรวจสอบให้ชัดเจน อำนาจดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม หากตำรวจสืบสวนสอบสวนมาแล้วว่าดีแทคและนิติบุคลมีสถานะเป็นต่างด้าวจริง ทางกรมจะร้องทุกข์กล่าวโทษตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ต่อไป โดยได้แต่งตั้ง ผอ.สำนักงานฝ่ายกฎหมายของกรมประสานกับตำรวจแล้ว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือขัดต่อกฎหมาย เพราะตามอำนาจของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้บัญญัติอำนาจของพนักงานให้ใช้ดุลพินิจได้อย่างเต็มที่ และอิสระ ไม่ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีสั่งการ หรือวินิจฉัยแตกต่างจากข้อเสนอของเจ้าพนักงาน แม้ว่ารัฐมนตรีจะเป็นผู้บังคับบัญชาก็ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 20 ก็ตาม แต่จำกัดแค่การดูแลหรือกำหนดนโยบายเท่านั้น ส่วนงานที่เป็นราชการตามปกติ ถ้ากฎหมายไม่บัญญัติเป็นกรณีพิเศษ รัฐมนตรีก็ไม่สามารถสั่งการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น