xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสำรวจ ปชช.เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งคุมราคาสินค้ามากที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสช.เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งคุมราคาสินค้ามากที่สุด สร้างความปรองดองสามัคคี เร่งพัฒนา ศก.ให้ก้าวหน้ามั่นคง พัฒนาด้านการศึกษา สร้างความยุติธรรมและโปร่งใส

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความก้าวหน้าของประเทศ พ.ศ.2554 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการจัดทำความก้าวหน้าของประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดความก้าวหน้าของประเทศ และเพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการดำเนินการต่อไป โดยได้สำรวจความคิดเห็นด้วยการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 106,620 คน

ทั้งนี้ จากการสอบถามแนวทางที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐดำเนินการเรื่องความเจริญก้าวหน้าของประเทศ พบว่าประชาชนต้องการให้เข้ามาควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุดถึงร้อยละ 18.3 รองลงมา คือ สร้างความปรองดองสามัคคีในสังคมร้อยละ 16.2 อันดับ 3 คือ การพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าและมั่นคงร้อยละ 14.3 อันดับ 4 คือ พัฒนาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพร้อยละ 14 อันดับ 5 คือ การสร้างความยุติธรรมและโปร่งใสในสังคมร้อยละ 13.4

ส่วนที่ประชาชนต้องการน้อยที่สุด คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวร้อยละ 0.3 รองลงมา คือ การหางานรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ร้อยละ 1.1 การพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าเท่าเทียมนานาประเทศร้อยละ 1.7 อันดับ 4 คือ การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ร้อยละ 1.8 และการจัดการปัญหาด้านขยะในชุมชนและหมู่บ้านร้อยละ 1.8

สำหรับผลการสำรวจความเห็นด้านความเจริญก้าวหน้าของประเทศ 5 อันดับแรก พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.6 เห็นว่าเป็นด้านการศึกษาและการเรียนรู้ รองลงมาคือการทำงานและการประกอบอาชีพร้อยละ 59.8 อีกร้อยละ 57 เห็นว่าเป็นฐานะทางเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพมีเพียงร้อยละ 41.7 และน้อยที่สุดพบว่าเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภคร้อยละ 33.1

นอกจากนี้ ความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านฐานะเศรษฐกิจใน 5 อันดับแรก พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76 เห็นว่าประชาชนมีงานทำ ขณะที่ร้อยละ 75.2 เห็นว่าประชาชนมีรายได้มากกว่ารายจ่าย อีกร้อยละ 64.8 เห็นว่า มีภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง ร้อยละ 56.7 เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ขณะที่มีเพียงร้อยละ 41.5 เท่านั้นที่เห็นว่าค่าครองชีพของตนอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนในภาคเหนือที่เห็นด้วยน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 39.8 รองลงมา คือ กรุงเทพฯ และภาคใต้ที่เห็นเท่ากัน คือ ร้อยละ 40.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 40.6

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ใน 5 อันดับแรกนั้น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยลดลงจริง ร้อยละ 69.3 รองลงมา คือ ความยากจนลดลงร้อยละ 65.8 ส่วนที่เห็นว่าประชาชนทุกกลุ่มได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทรัพยากรและการบริการของภาครัฐที่เหมาะสม มีร้อยละ 55 อีกร้อยละ 51.9 เห็นว่าการปฏิบัติของภาครัฐและสังคมที่มีต่อประชาชนเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่ร้อยละ 48.1 เห็นว่า ชุมชนและท้องถิ่นได้รับการจัดให้มีระบบสวัสดิการที่เพียงพอครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตายอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านความสามัคคีและความสมานฉันท์ในสังคม 5 เรื่องแรก พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.8 ที่เห็นว่าการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคม รองลงมาคือความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมลดลงและไม่นำไปสู่ความแตกแยกในสังคมร้อยละ 59.2 อันดับ 3 คือ การปฏิบัติของภาครัฐต่อประชาชน กลุ่มต่างๆ เป็นไปภายใต้มาตรฐานเดียวกันร้อยละ 47.7 อันดับ 4 สังคมมีกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีของคนในสังคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 อันดับ 5 คือ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาหรือนโยบายรัฐ ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้นร้อยละ 35.3

สสช.ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องความเจริญก้าวหน้าของประเทศ 5 อันดับแรกในด้านความสำคัญต่อชีวิต ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ด้านการทำงานและประกอบอาชีพ ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค ด้านความสุขและความพึงพอใจในชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น