xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กคมนาคม เร่งผ่าทางตันเช่าที่ “จตุจักร” รถไฟพร้อมทำเอง-บีบ กทม.รับเงื่อนไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊กคมนาคม แจงเบื้องหลังปัญหา “ผู้ค้าจตุจักร-เช่าที่รถไฟ” ระบุ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ย้ำจุดยืนการเร่งหารายได้อุดหนี้ 7 หมื่นล้าน ตามที่คลังกำหนด ส่วนการต่อสัญญา กทม.หรือไม่ โยนให้บอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณา ลั่นอัตราค่าเช่าใหม่ ผู้ค้าตัวจริงยอมรับได้แน่นอน เพราะถูกกว่าการเช่าช่วงต่อที่มีการเรียกเก็บหลายหมื่นบาทต่อเดือน ชี้ หาก กทม.ต้องการเช่าพื้นที่ต่อ ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของ ร.ฟ.ท.

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ค้าที่เดินทางมาชุมนุมหน้ากระทรวง เมื่อเช้าวันนี้ พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องต่อกระทรวงในนามสมาคมผู้ประกอบการค้าตลาดนัดจตุจักร เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับสัญญาเช่าพื้นที่ขายสินค้า ก่อนที่จะครบกำหนดสัญญาเดิมในสิ้นปีนี้ เพื่อดูท่าทีว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะดำเนินการเอง หรือจะต่อสัญญากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้บริหารจัดการต่อ

นายสุพจน์ กล่าวเสริมว่า กรณีดังกล่าว ตนเองได้เรียก นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เข้าหารือ ซึ่ง นายยุทธยา ย้ำจุดยืนว่า ร.ฟ.ท.ต้องหารายได้เข้าองค์กรมากขึ้น ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด หลังขาดทุนสะสมเกือบ 70,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น บำนาญ เงินเดือนพนักงาน และค่าซ่อมบำรุงรถไฟ

"แม้สัญญาการเช่าแผงจะหมดลง ในวันที่ 1 มกราคม 2555 และไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลของใคร ยืนยันว่า ผู้ค้าก็ยังสามารถค้าขายต่อไปได้ ซึ่งในส่วนของราคาค่าเช่าที่กลุ่มผู้เรียกร้องให้มีอัตราใกล้เคียงกับตลาด อ.ต.ก.นั้น ปลัดกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ผู้เช่าจะไม่เสียค่าเช่าแพงกว่าเดิม คือ 15,000 บาท ตามที่ รฟท.เสนอ แต่ต้องไปพิจารณาหาข้อสรุปราคา ไม่ให้กระทบกับผู้ค้า ซึ่งก่อนหมดสัญญาจะรู้ผลราคาค่าเช่าที่แท้จริงอย่างแน่นอน"

ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ที่ต้องการให้หน่วยงานท้องถิ่นบริหารจัดการแทน ร.ฟ.ท.ต่อไปนั้น บอร์ด ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้พิจารณา พร้อมระบุว่า ผู้ค้าตัวจริงจะยอมรับอัตราค่าเช่าใหม่ได้อย่างแน่นอน เพราะถูกกว่าการเช่าช่วงต่อที่ถูกเรียกเก็บหลายหมื่นบาทต่อเดือน เป็นราคาที่ถูกกว่าการเรียกเก็บจากการเช่าช่วงต่อ ซึ่งหาก กทม.ต้องการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรต่อไป ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ ร.ฟ.ท.ด้วย

สำหรับหนังสือเรียกร้องของสมาคมผู้ประกอบการค้าตลาดนัดจตุจักร ระบุว่า อัตราค่าเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ที่กำหนดใหม่นั้นไม่เป็นธรรม เพราะมีราคาสูงถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเช่าปกติของกรุงเทพมหานคร ที่จัดเก็บเพียงหลักร้อยบาทต่อเดือน

ขณะเดียวกัน ผู้ค้ายังเสนอข้อเรียกร้อง 4 ประการ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ได้แก่ 1.กระทรวงฯ ควรเร่งเจรจากับ กทม.เพื่อหาข้อยุติเรื่องค่าเช่าพื้นที่ด้วยราคาที่เป็นธรรมกับ 3 ฝ่าย 2.ให้กระทรวงฯ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิม ที่ให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ กลุ่มผู้ค้าเห็นว่าอัตราค่าเช่าใหม่ ควรมีอัตราใกล้เคียงกับค่าเช่าขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และ 4.ควรต่อสัญญาเช่าอีก 30 ปี และขอให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดนัดของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีกลุ่มทุนมาแอบแฝง
กำลังโหลดความคิดเห็น