xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.หนุนตั้งกองทุนแสนล้าน ดบ.ต่ำ 3% ผ่าทางตันเงินกู้ในช่วงวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.ชงรัฐบาลตั้งกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี 1 แสนล้าน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ทั้งปัญหาการเมือง ภัยธรรมชาติ เศรษกิจโลก หลังติดเงื่อนไขระบบสินเชื่อสถาบันการเงิน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 2-3 ปี คาดช่วยเพื่อสภาพคล่อง-ลดการปิดกิจการได้ สถาบันชิ้นส่วนจวกนโยบายพรรคการเมืองขึ้นค่าแรงดันต้นทุนพุ่ง หวั่นทำเอสเอ็มอีชิ้นส่วนฯ 70% ไปไม่รอด เล็งจัดยุทธศาสตร์แรงงาน 10 ปี พัฒนาฝีมือแรงงานรับมือเออีซี

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ต้องการเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่จัดสรรงบประมาณในการตั้งกองทุนฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน และวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากในอนาคตอาจมีวิกฤตต่างๆ อีกมากมายที่ทำให้ความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย 2.9 ล้านรายลดลง หากไม่มีเม็ดเงินที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการโดยเร็ว จะเกิดความเสี่ยงต่อธุรกิจของคนไทยบางกลุ่มปิดกิจการได้ง่าย

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวจะให้สินเชื่อเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบต่อวิกฤตการณ์ต่างๆ เพื่อนำเงินไปฟื้นฟูกิจการ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นระยะเวลา 2-3 ปี โดยการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต้องผ่อนปรนกว่าการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เนื่องจากที่ผ่านมายอมรับว่ารัฐบาลชุดต่างๆ จะมีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ แต่หลายรายไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เพราะติดปัญหาหลักทรัพย์ในการค้ำประกันหรือปัญหาอื่น ทั้งๆ ที่ธุรกิจนั้นมีศักยภาพในการชำระหนี้ในระดับที่ดี

“ภายในปี 2558 อาเซียนก็จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็จะทำให้ทุนข้ามชาติสามารถเจาะตลาดสินค้าของเอสเอ็มอีไทยได้ง่าย หากรายใดไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเชื่อว่าอยู่ไม่ได้แน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเงินทุนเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับเอสเอ็มอี เพราะหากต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อฟื้นฟูกิจการเชื่อว่าคงสู้กับต่างชาติไม่ได้แน่นอน”

นายถาวร ชลัษเสถียร อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า จากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นขนาดเล็กซึ่งมีสัดส่วนกว่า 70% ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไปเพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่รายกลางและรายใหญ่ไม่มีปัญหาเพราะจ่ายค่าแรงขั้นต่ำราว 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง โดยประกาศรับคนงาน 100 คน แต่มีคนมาสมัครเพียง 50 คน ต่างจากที่ผ่านมา คนแห่มาสมัครงานทะลัก ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สมาคมฯ เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน 10 ปี (2554-2563) ในการพัฒนาและผลิตแรงงานเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรกลและโลหะการ เครื่องจักรกลการเกษตรและอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ซึ่งมีมูลค่าราว 24% ในเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) โดยเป้าหมายระยะแรกจะมีแรงงานในภาคอุตสากรรมเพิ่มอีก 2.5 แสนราย เป็น 1.5 ล้านราย ในปี 2558 จากปัจจุบันมีกว่า 1.25 ล้านราย

“ภายในเดือนหน้าภาคอุตสาหกรรมจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านแรงงานภายใน 10 ปีข้างหน้า ว่าทิศทางของแรงงานไทยควรจะไปด้านไหนอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันเราต้องเร่งผลิตแรงงานฝีมือให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อสอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานแรงงานแบบเดียวกันทั้งภูมิภาค”
กำลังโหลดความคิดเห็น