xs
xsm
sm
md
lg

พรีแฟ็บ..ทางออกก่อสร้างไทย ยุคต้นทุนแพง แรงงานขาดแคลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมก่อสร้างไทย อยู่ในภาวะเข้าขั้นวิกฤตเลยก็ว่าได้ในเรื่องของแรงงานขาดแคลน แม้ว่าจะเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้นเป็นเท่าตัวเพื่อจูงใจแล้วก็ตาม นอกจากการขาดแคลนแรงงานแล้วปัยหาใหญ่อีกประการคือต้นทุนวัสดุที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการก่อสร้างล่าช้า ต้นทุนเพิ่ม การทำกำไรลดน้อยถอยลง

ดังนั้นการบริหารจัดการภายใน และการบริหารต้นทุนให้คงที่ได้ยาวนานที่สุด หรือปรับขึ้นน้อยที่สุด จึงเป็นโจทย์สำคัญและถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการควรรีบดำเนินการในเวลานี้ ผู้ที่คล่ำหวอดในธุรกิจก่อสร้างต่างแนะนำว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำคือ การสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่อล็อคราคาวัสดุเอาไว้ การตรึงราคาในรูปแบบนี้ จะขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีปริมาณการซื้อจำนวนมากๆ จะมีอำนาจต่อรองสูง ทำให้ซื้อได้ในราคาถูกกว่ารายอื่น อีกทั้งยังล็อคราคาได้นานกว่าประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี นอกจากนี้ยังใช้วิธีซื้อวัสดุมาเก็บสต๊อกไว้ แต่วิธีนี้จะต้องใช้เงินลงทุนสูงเพื่อสต๊อกสินค้าและยังมีความเสี่ยงหากวัสดุดังกล่าวปรับลดราคาในอนาคตอันใกล้

สำหรับผู้ประกอบการจัดสรร โดยเฉพาะโครงการอาคารสูง คอนโดมิเนียมจะใช้วีประมูลก่อสร้างล่วงหน้า ให้ผู้รับเหมาแบกรับภาระต้นทุนที่คาดว่าจะปรับขึ้นในอนาคตเอง แต่ก็มีความเสี่ยงในกรณีที่ผู้รับเหมาแย่งรับงานด้วยการลดราคารับเหมาถูกๆ เพื่อให้ได้งาน หรือในกรณีที่ผู้รับเหมาไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นไปมาก เมื่อถึงเวลาก่อสร้างจริงกลับทำไม่ได้ก็อาจทิ่งงานได้ ซึ่งแนะว่าควรพบกันคนละครึ่งทางด้วยด้วยการเจรจาขอขึ้นค่าก่อสร้างบางส่วนและแบกรับไว้บางส่วน ผู้ประกอบการเองก็ควรอนุโลมขึ้นค่าจ้างให้ เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถสร้างต่อได้จนแล้วเสร็จโดยไม่ขาดทุนจนกระทั้งปิดกิจการ

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต้นทุนแพง ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการดำเนินงานลงเพื่อง่ายต่อการแก้ไขปัญหา ลดการสูญเสียที่เกิดจากการก่อสร้างให้เหลือน้อยที่สุด ควบคุมต้นทุนด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่มีความแข็งแรง ทนทาน สวยงาม ลดขนาดบ้านลงหรือพัฒนาบ้านหลังเล็กลงรับกับกำลังซื้อ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก ที่มีอำนาจต่อรองน้อย เงินทุนน้อยอาจเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ ในการล็อคราคาสินค้า หรือซื้อวัสดุมาสต๊อกเอาไว้ ควรหันมาใช้ระบบการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก และใช้แรงงานน้อยลง ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายหันมาใช้วิธีนี้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบสำเร็จรูป โดยซื้อจากผู้ผลิต หรือจ้างผู้รับเหมาที่ใช้ระบบสำเร็จรูป

ด้านนายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานกรรมการ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีพีเฮ้าส์ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานระดับล่างหรือไร้ฝีมือ เช่น หิ้งปูน ผสมปูน ผูกลวด เป็นต้น ขาดแคลนมานานแล้ว และทวีความรุนแรงมากขึ้นจนปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากคนไทยหันไปทำงานอย่างอื่นแทนงานก่อสร้างที่เป็นงานหนัก สกปรก โดยก่อนหน้านี้แรงงานภาคเกษตรจะทำงานแระเภทนี้ แต่เมื่องราคาพืชผลดีก็หันกลับไปทำการเกษตรแทน ยกระดับไปทำงานฝีมือแทนไม่ทำงานระดับล่างแล้ว บางรายไปทำงานโรงงานเพราะงานสบายแม้ว่าจะได้ค่าจ้างถูกกว่าก็ตาม

ส่วนแรงงานต่างด้าวรัฐบาลไม่มีนโยบายรับเพิ่มโดยอ้างว่าจะมาแย่งงานคนไทย หรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไทยต้องการแรงงานระดับนี้จำนวนมาก รัฐบาลควรหันมามองปัญหาด้นเศรษฐกิจมากกว่า และยอมรับความจริงว่าคนไทยไม่ทำงานก่อสร้างแล้วหรือมีน้อยมาก

ที่ผ่านมาผู้รับเหมาใช้วิธีขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดใจโดยเฉพาะแรงงานฝีมือ เช่นฉาบปูนค่าจ้างจาก 280-300 บาท/วัน เพิ่มเป็น 250-400 บาท ส่วนค่าจ้างปูกระเบื้องในต่างจังหวัดเดิมเคยจ้าง 80 บาท/ตร.ม. เพิ่มเป็น 150 บาท/ตร.ม. หากทำโรงงานจะได้ค่าแรงไม่ถึง 200 บาท/วัน ซึ่งการขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดใจแรงงานแล้ว ยังช่วยให้คนงานตั้งใจทำงานให้ปรานีตสมกับค่าแรงที่มากขึ้นอีกด้วย

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาอย่างถาวรของผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ควรใช้เทคโนโลยีก่อสร้างแทนการใช้ฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้าง ซึ่งบริษัทได้ใช้มานานแล้ว และถือว่าเป็นระบบที่มีมาตรฐาน สามารถควบคุมการผลิตได้ดีกว่า การใช้แรงงานก่ออิฐฉาบปูนในไซน์งาน

อย่างไรก็ตามต้นทุนของโครงสร้างสำเร็จรูปจะแพงกว่าการก่อสร้างแบบเดิม 10-15% เช่น บ้านราคา 2 ล้านบาท คิดเป็นส่วนโครงสร้าง 5 แสนบาท แต่หากใช้โครงสร้างสำเร็จรูปจะแพงขึ้นเป็น 5.5 -6 แสนบาท เป็นต้น ขณะเดียวกันการก่อสร้างแบบเดิมต้องใช้เวลาทำโครงสร้างประมาณ 3 เดือน ขณะที่ใช้โครงสร้างสำเร็จรูปจะใช้เวลาติดตั้งเพียง 15-20 วัน หากใช้เวลา 3 เดือนจะสามารถทำโครงสร้างบ้านได้ 3-4 หลัง เมื่อเทียบระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น ใช้แรงงานติดตั้งเพียง 2-3 คน ก็ถือว่าคุ้มมากกว่า

นอกจากการใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้างแล้ว ผู้ประกอบการควรหันมาบริหารจัดการภายใน บุคลากร การสั่งซื้อสินค้าล้วงหน้า การเจรจาผู้ผลิตเพื่อล็อคราคาสินค้า เพื่อให้คงต้นทุนไว้ในราคาเดิมออกไปอีกระยะหนึ่งได้

“การใช้เวลาก่อสร้างน้อย ใช้คนงานน้อยลดต้นทุนค่าแรง การเจรจากับซับพลายเออร์ให้ตรึงราคาเอาไว้นานขึ้น สิ่งเหล่านี้จะสามารถเฉลี่ยต้นทุนค่าโครงสร้างสำเร็จรูปที่แพงกว่าการก่อสร้างทั่วไปได้ ทำให้บริษัทยังสามารถยืนราคาค่าก่อสร้างบ้านไว้ในราคาเดิมได้ ในขณะที่บริษัทรับสร้างบ้านรายอื่นปรับขึ้นราคาไปแล้ว 3-5%” นายสิทธิพรกล่าว

ปัจจุบันมีบริษัทจัดสรร บริษัทรับสร้างบ้านรวมถึงผู้รับเหมาต่างหันมาใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูปกันมากขึ้น แต่จำนวนผู้ผลิตระบบโครงสร้างสำเร็จรุปในปัจจุบันยังถือว่าเพียงพอ ซึ่งในอนาคตอาจมีผู้ผลติเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายหันมาผลิตวัสดุสำเร็จรูปมากขึ้น และควรเพิ่มเทคโนโลยีในการก่อสร้างมากขึ้นในอนาคต อาทิ ผนังสำเร็จรูป รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ เพราะในต่างประเทศก้าวไปถึงขึ้นใช้ระบบสำเร็จรูปเกือบทั้งหลัง ทำให้ใช้แรงงานฝีมือในการประกอบชิ้นส่วนต่างๆของบ้าน เพียง 3-4 คนเท่านั้น ซึ่งไทยควรสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคถึงมาตรฐานของระบบดังกล่าวว่ามีความแข็งแรงทนทาน ต่างจากในอดีตที่ใช้ระบบสำเร็จรูปแบบเก่ามากจนทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่แข็งแรง จนผู้บริโภคไม่กล้าใช้งานและติดภาพนั้นมา

ปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนก่อสร้างแพงจะเป็นบทพิสูจน์ขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการบริหารจัดการต้นทุนให้ปรับขึ้นน้อยที่สุด เและจะเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการแต่ละรายอีกด้วย เพราะการปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ใช่เรื่องง่าย และใช้ว่าจะขึ้นราคาสินค้าได้เท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านการแข่งขัน การตลาดและความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น