ก.แรงงาน นำร่องนำเข้า แรงงาน “บังกลาเทศ” แทน ต่างด้าว 3 สัญชาติ ชี้มีความพร้อมที่สุด เพราะส่งออกแรงงานกว่า 10 ล้าน เล็ง “อินโดฯ” อีกประเทศ เน้นงานกรรมกร-แม่บ้าน
วันนี้ (24 มี.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเพื่อนำร่องนำเข้าแรงงานสัญชาติบังกลาเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และ กัมพูชา โดยเบื้องต้นได้มีการกำหนดประเภทกิจการคือ กรรมกร และ แม่บ้าน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการแก้ปัญหาความมั่นคงในประเทศ ที่ยังมีการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้มีการระบุถึงตัวเลขนำเข้าแรงงานบังกลาเทศที่ชัดเจน เพราะจะต้องกำหนดรายละเอียดประเภทกิจการ ตำแหน่ง และประเทศที่จะนำเข้าแรงงานประเทศอื่นๆ ด้วย
นายสมเกียรติ กล่าวว่า บังกลาเทศมีความพร้อมที่สุดในตอนนี้ เพราะได้มีการส่งออกแรงงานอยู่แล้วกว่า 10 ล้านคน ทำให้เวลาเราแจ้งเงื่อนไขอย่างไร เขาย่อมพร้อมทำตาม แต่ในกรณีของพม่า ลาว และกัมพูชา นั้น มีข้อจำกัดที่ค่อนข้างยุ่งยาก ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ อย่างเช่น พม่า ทางการไทยได้ขอแรงงานไป 1 แสนคน แต่ได้แค่ 1,803 คน นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอประเทศอินโดนีเซียเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานเหมือนกัน แต่ยังอยู่ระหว่างการหาข้อมูล โดยจะต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลต่อไป
ทั้ง นี้ หากมีการกำหนดประเภทกิจการเป็นที่เรียบร้อย คณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ก็สามารถทำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรีได้ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.)
“ขณะนี้นโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเดินมาถูกทางแล้ว เพราะเราต้องการปิดกั้นแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาทำงานในประเทศ ขณะเดียวกัน จะเปิดทางให้กับกลุ่มแรงงานที่ถูกกฎหมายนำเข้า เพื่อทดแทนแรงงานผิดกฎหมายนั้น ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับระบบการทำบัตร และการเพิ่มมาตรการควบคุม” นายสมเกียรติ กล่าว
ส่วน กรณีที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวน 2 แสนคนไม่มาขออนุญาตทำงานนั้น ขณะนี้ได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการจับกุมแล้ว เนื่องจากถือเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย