โพล ม.หอการค้า ชี้ เปิดเทอมปีนี้เงินสะพัด 4.69 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 5.4% ชี้ ต้นเหตุของแพง ฉุดกำลังซื้อวูบ ผลสำรวจพบ “ผู้ปกครอง” ส่วนใหญ่กระเป๋าแห้ง รายได้ไม่พอรายจ่าย ต้องจำนำทรัพย์สิน-กู้เงิน เพื่อใช้จ่าย “ธนวรรธน์” เผย เอกชนคาดหวัง รบ.ใหม่ เดินหน้าดูแล ศก.ขจัดคอร์รัปชัน
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจการประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,183 คน ระหว่างวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2554 พบว่า ในช่วงเปิดเทอมของปีนี้จะมีเงินสะพัด 4.69 หมื่นล้านบาท เพื่มขึ้นจากปีก่อน 5.4% โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรวม 6,939 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 42.38% เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ถุงเท้ารองเท้า หนังสือ กระเป๋า และเครื่องเขียน
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากค่าเล่าเรียนหรือค่าหน่วยกิจ คิดเป็น 5,689 บาท ค่าบำรุงโรงเรียน (กรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่/แปะเจี๊ยะ) 8,325 บาท ค่าบำรุงโรงเรียนตามปกติ 1,676 บาท ค่าเสื้อผ้า 1,110 บาท ค่าหนังสือ 1,094 บาท เป็นต้น โดยผู้ปกครองจำนวน 62.7% มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่าย มีแหล่งที่มาของเงิน ได้แก่ 53.5% มาจากเงินเดือน 39.4% เงินออม 6.8% โบนัสรายได้อื่นๆ
ขณะที่ผู้ปกครองอีก 37.24% มีเงินไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 25.7% ต้องจำนำทรัพย์สิน 24.5% กู้เงินในระบบ 21% กู้เงินนอกระบบ 15% ยืมญาติพี่น้อง เป็นต้น โดยการที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ปกครองที่ได้รับต่อเดือน และจำนวนบุตร
ด้านการซื้อสินค้าที่ไม่ใช่ค่าเทอมในปีนี้ กลุ่มตัวอย่าง 34.2% ซื้อน้อยลง เพราะ 28.4% เห็นว่าของราคาแพงขึ้น 25.4% มีรายได้น้อยลง 19.6% มีภาระหนี้มาก และ 14.8% ไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจไทย
“ระดับบัญหาที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประสบอยู่ในปัจจุบัน อันดับ 1 คือ สินค้ามีราคาแพงขึ้น มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น”
ขณะที่นโยบายเรียนฟรี 12 ปี ของรัฐบาล กลุ่มตัวอย่าง 82.4% ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายดังกล่าว โดยพบว่า 74.2% ได้รับค่าเทอมฟรี 85.4% ได้รับค่าชุดนักเรียนฟรี 1 ชุด และ 82.4% ได้รับค่าหนังสือฟรี แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้าง โดยในส่วนของโรงเรียนเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอม 5,930 บาท ค่าชุดนักเรียน 1,364 บาท และค่าหนังสือ 930 บาท
ส่วนโรงเรียนรัฐบาล มีค่าเทอมเพิ่ม 7,080 บาท ค่าชุดนักเรียน 1,207 บาท และค่าหนังสือ 567 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมส่วนใหญ่จะเป็นค่าสนับสนุนและค่าบำรุงโรงเรียน โดยนโยบายนี้ได้คะแนนความพึงพอใจ 8.9 คะแนน เต็ม 10
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านศึกษา ได้แก่ ปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา เพิ่มจำนวนทุนการศึกษา เน้นหลักสูตรที่เรียนจบแล้วมีงานทำ ค่ารถโรงเรียนฟรี ค่าหนังสือฟรี
นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการสำรวจพฤติกรรม และการใช้จ่ายในช่วงวันวิสาขบูชา พบว่า ในช่วงวันวิสาขบูชาจะมีเงินสะพัดกว่า 1.52 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในการทำบุญทางศาสนากว่า 9,911 ล้านบาท ท่องเที่ยว 4,227 ล้านบาท จัดเลี้ยงสังสรรค์ 759 ล้านบาท และใช้จ่ายทั่วไป 388 ล้านบาท
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 ที่มีการเปิดเทอม และมีวันหยุดยาวในช่วงวันวิสาขบูชา จะมีเงินออกมาใช้จ่ายจำนวนมาก ประกอบกับช่วงการเลือกตั้งจะเริ่มมีเม็ดเงินจากการระดมหาเสียงเข้าระบบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตันกระตุ้นให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ขยายตัวได้ในระดับ 3.4-3.5%
ส่วนประเด็นการเลือกตั้ง ทางภาคเอกชนมีความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อที่จะสามารถเดินหน้าในการรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ และยังสามารถรักษาระดับการแข่งขันของภาคเอกชน หลังจากที่ต้องมุ่งหน้าไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558
โดยแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจในช่วง 4 ปี จะต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศ การสร้างรายได้ให้กับประชาชน การลดต้นทุนของผู้ประกอบการ หนี้สาธารณะของประเทศ และการเดินหน้าขจัดคอร์รัปชั่น โดยในช่วง 2 ปีแรก ของการบริหารงาน การดูแลในเรื่องของปากท้องของประชาชน จากต้นทุนสินค้าราคาแพงขึ้น ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพื่อรักษาระดับการบริโภคของประชาชนไว้