“เอแบคโพลล์” เผยผลสำรวจเปิดเทอมนี้ผู้ปกครองเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.9 ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา มีเงินสะพัดค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียนทั่วประเทศกว่า 40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ผู้ปกครองยังคงต้องจ่ายค่าแปะเจี๊ยะอยู่เป็นเงินกว่า 5,000 ล้านบาท ขณะที่ “ชินภัทร” ชี้ัเตรียมเช็กบิลให้หากมีการร้องเรียนมาว่ามีการรับแปะเจี๊ยะ
วันนี้ (12 พ.ค.)ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “ผลประมาณการวงเงินสะพัดค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมและค่าแปะเจี๊ยะ” กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 15-60 ปี จำนวน 2,453 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา ระหว่างวันที่ 1-11 พฤษภาคม2554
ผลสำรวจพบว่าเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.9 มีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาช่วงเปิดเทอมนี้ ในขณะที่ร้อยละ 62.1 ไม่มีภาระ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.2 เป็นผู้ปกครองที่ส่งเสียค่าใช้จ่ายการศึกษาให้กับบุตรหลานหรือผู้อื่น ในขณะที่ร้อยละ 10.3 เป็นผู้ที่กำลังศึกษาและรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ร้อยละ 76.5 ระบุมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเทอม ค่าเล่าเรียน รองลงมาคือร้อยละ 68.2 ระบุเป็นค่าอุปกรณ์การเรียน เช่น ชุดนักเรียน เครื่องเขียน หนังสือเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ ร้อยละ 23.8 ยังมีค่าเรียนพิเศษในช่วงเปิดเทอม และร้อยละ 13.8 ต้องจ่ายค่าบำรุงสถานศึกษาหรือแปะเจี๊ยะ
และเมื่อประมาณการวงเงินสะพัด ค่าใช้จ่ายแปะเจี๊ยะและอุปกรณ์การเรียนพบว่า จะมีวงเงินสะพัดช่วงเปิดเทอมเป็นอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน เครื่องเขียน หนังสือเรียน และอื่นๆ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 40 ,000 ล้านบาท และที่น่าพิจารณาคือ ผู้ปกครองยังคงมีการจ่ายค่าแปะเจี๊ยะอยู่คิดเป็นวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท
ขณะที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายห้ามรับแปะเจี๊ยะอยู่แล้ว การรับนักเรียนจะต้องโปร่งใสยุติธรรม โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงกว่า 300 แห่ง ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการรับนักเรียน จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการฯว่ามีการรับแปะเจี๊ยะ หรือมีผู้ปกครองมาร้องเรียนแต่อย่างใด
"หากมีการรับจริงขอให้ร้องเรียนมายัง สพฐ. เพื่อจะได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีการรับจริงจะลงโทษทางวินัยแก่ผู้รับ ขณะนี้ยังไม่มีผู้มาร้องเรียน ถือว่ายังมีผู้เดือดร้อนหรือไม่มีเจ้าทุกข์ ซึ่งไม่รู้จะไปตรวจสอบโรงเรียนแห่งไหน สำหรับผลการสำรวจเป็นเพียงการคาดเดาว่ามีการรับแปะเจี๊ยะ และไม่รู้ว่าคำถามๆ แบบไหน อย่างไร ทั้งนี้ หากมีการจ่ายเงินแลกเก้าอี้เรียน อยากให้มาร้องเรียนแล้วจะเช็คบิลให้" นายชินภัทร กล่าว