xs
xsm
sm
md
lg

ไออาร์พีซี แนะปล่อยลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจี จูงใจโรงกลั่นในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไออาร์พีซี ขานรับขยายคลังก๊าซแอลพีจี มั่นใจพื้นที่ท่าเรือขนส่งปิโตรเคมี จ.ระยอง สามารถใช้ขยายเป็นคลังเก็บแอลพีจี ในอนาคตได้ แนะรัฐปล่อยลอยตัวแอลพีจีหน้าโรงกลั่น ตามราคาตลาดโลก เพื่อกระตุ้นในผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน กลั่นแอลพีจีในประเทศมากขึ้น

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน กล่าวว่า จากการคาดการณ์แนวโน้มการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี ทำให้มองว่าในปี 2558-2559 การนำเข้าของไทยมีโอกาสสูงถึง 250,000 ตันต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 100,000 ตันต่อเดือน

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไออาร์พีซี ยอมรับว่า คลังเก็บแอลพีจีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงพอในการรองรับการนำเข้าจำนวนมากดังกล่าวได้ หากรัฐบาลหรือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องการเพิ่มพื้นที่หรือขยายคลังเก็บแอลพีจีในอนาคต ไออาร์พีซี พร้อมให้ความร่วมมือในการให้ทำการลงทุนขยายคลังในพื้นที่ของบริษัท เพื่อใช้เก็บแอลพีจีนำเข้าได้มากขึ้น

“มั่นใจว่า พื้นที่บริเวณท่าเรือที่จังหวัดระยองของไออาร์พีซี มีศักยภาพเพียงพอรองรับ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติ แต่จะติดปัญหาเรื่องระบบจ่ายลงรถขนส่งก๊าซฯ ที่จะต้องมีการปรับปรุงใหม่ เพราะการขนถ่ายก๊าซแอลพีจี หรือสารโพพีลีน ต้องใช้ถังเก็บเย็นเท่านั้น เนื่องจากท่าเรือนี้อยู่ห่างจากท่าเรือศรีราชามากกว่า 20 กิโลเมตร”

ทั้งนี้ มองว่า การใช้แอลพีจี ที่สูงขึ้นของภาคต่างๆ ในปัจจุบันนี้มาจากการตรึงราคาของภาครัฐ ประกอบกับ ราคาน้ำมันโลกผันผวนขึ้นลงรุนแรงมากจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง และ ความต้องการใช้ในญี่ปุ่นมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้าหลังประสบปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จนทำให้ไทยต้องมีการนำเข้าสูงขึ้นทุกปี แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศลอยตัวแอลพีจี หน้าโรงกลั่นน้ำมันให้ผู้ประกอบการจาก 330 ดอลลาร์ต่อตัน มาอยู่ที่ 780 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นแอลพีจี ในประเทศให้สูงขึ้น หวังลดการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศลง

ส่วนกรณีที่กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เตรียมเสนอรัฐบาลปรับราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นน้ำมันให้ผู้ประกอบการอีกครั้ง เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นแอลพีจี ให้มากขึ้นจากปัจจุบันกลั่นป้อนเข้าระบบเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 80,000-90,000 ตันต่อเดือน นายไพรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องปล่อยลอยตัวราคาจำหน่ายแอลพีจี หน้าโรงกลั่นน้ำมันตามราคาแอลพีจี ตลาดโลก (ซีพี) ที่ 890-900 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อดึงให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นหันมาผลิตแอลพีจี ออกสู่ตลาดมากขึ้น เพราะจะมีราคาการกลั่นสูงกว่าน้ำมันเตา จึงจะคุ้มค่ากับการกลั่นในแต่ละครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น