xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ ยันเหมืองแร่ “กรุงชิง” ไม่เกี่ยวดินถล่ม “เมืองคอน” รับใต้หนักสุดรอบ 40 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุตฯ แจงเหมืองแร่เขากรุงชิง ไม่ใช่สาเหตุดินถล่ม “เมืองคอน” แต่ยอมรับมี 2 แห่งที่ “นบพิตำ” เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงลึด หากพบไม่ปลอดภัย พร้อมสั่งปิดทันที ชี้ ผลกระทบน้ำท่วม 5 จว.ใต้ หนักสุดรอบ 40 ปี ผู้ประกอบการ 2 พันรายอ่วม แรงงานกระทบ 3 หมื่นราย เสียหายกว่า 1 พันล้าน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่มีความสงสัยว่าการทำเหมืองแร่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดดินถล่มในภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ดินถล่มในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีการทำเหมืองแร่บนภูเขากรุงชิง และคนงานเหมืองต้องอพยพหนีตายนั้น ตนเองขอชี้แจงว่า พื้นที่ทำเหมืองแร่บนภูเขาและเกิดดินถล่มมี 2 บริเวณ ได้แก่ เหมืองแร่เฟลด์สปาร์และเหมืองแร่แบไรท์ ในอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจากวิศวกรควบคุมเหมือง พบว่า ทั้งสองแห่งไม่ได้เป็นสาเหตุของดินถล่ม ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ตนเองได้วางแผนเดินทางไปตรวจสอบ และหากพบความไม่มั่นคงปลอดภัยจะสั่งปิดเหมืองต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ทำการดูแลเหมืองแร่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดอย่างเข้มงวด และเมื่อเกิดอุทกภัยในภาคใต้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากพบว่ามีความเสี่ยงจะสั่งการให้แก้ไข หรือสั่งปิดทันที

ส่วนผลกระทบจากอุทกภัยต่อภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้ ล่าสุด มี 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง และ กระบี่ มีโรงงานเสียหาย 1,836 โรง เหมืองแร่ 62 แห่ง โอทอป 10 กลุ่ม รวม 1,908 ราย แรงงานได้รับผลกระทบ 29,535 ราย ทรัพย์สินเสียหาย 991 ล้านบาท และอีก 9 จังหวัดมีรายงานน้ำท่วม แต่ยังไม่มีความเสียหาย

ด้าน นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจ ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ที่ถูกน้ำท่วมพบว่า มีสถานีบริการน้ำมันรวมทั้งสิ้น 492 แห่งไม่สามารถเปิดให้บริการได้ 32 แห่ง หรือคิดเป็น 6.5% ของจำนวนสถานีบริการน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดที่น้ำท่วมมากที่สุด คือ สุราษฎร์ธานีที่มีสถานีบริการน้ำมัน 16 แห่ง และตรัง 7 แห่ง แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำท่วมไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำมัน เพราะความต้องการน้ำมันไม่ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนการตรวจคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ซึ่งมีคลังอยู่ที่จังหวัดสงขลา และสุราษฎร์ธานี การขนส่งเป็นการขนส่งทางเรือจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม ไปคลังแอลพีจีจึงไม่มีปัญหา แต่จากคลังก๊าซไปยังโรงบรรจุมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบสำหรับโรงบรรจุก๊าซที่ถูกน้ำท่วมไม่สามารถจัดส่งได้ทางรถยนต์
กำลังโหลดความคิดเห็น