xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ลั่นจัดสมดุล โครงสร้าง ศก.ไทย ส.อ.ท.ชี้ อุตฯ-เกษตร-ท่องเที่ยว ยังเป็นเสาหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช (แฟ้มภาพ)
“กรณ์” ชี้ 5 เงื่อนไข พัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมไทย โตอย่างยั่งยืน ย้ำ การใช้นโยบายการขับเคลื่อน ต้องให้ทุกสว่นเกิดความสมดุล เผย โครงสร้างภาษีไทยมีปัญหา เพราะมีผู้ยื่นแบบ 9 ล้านคน แต่เสียภาษีจริงแค่ 2.5 ล้านคน โดยมี 1.8 หมื่นคน เสียภาษีเกินปีละ 4 ล้านบาท “ส.อ.ท.” มั่นใจปี 54 อุตฯ-เกษตร-ท่องเที่ยว ยังเป็นเสาหลัก “หอการค้าฯ” แนะเพิ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “Economic outlook 2011” ถึงแนวทางในการพัฒนาประเทศให้เศรษฐกิจยั่งยืนในอนาคต มีปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ทุกประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวดี ได้แก่ 1.ต้องส่งเสริมการศึกษา 2.ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ชลประทาน และโลจิสติกส์ 3.การเข้าถึงตลาดโลกอย่างทั่วถึง ทั้งการค้าและการลงทุน เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ 4.การแข่งขันจากภายในประเทศต้องโปร่งใสเป็นธรรม

นอกจากพื้นฐาน 4 ด้านแล้ว ยังต้องสร้างความสมดุลภายในประเทศด้วยการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงการสร้างความสมดุลด้านวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของประเทศ เพื่อให้ประเทศมีความสมดุลมากขึ้น

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า หากต้องการให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่ 5 ด้วย คือ การสร้างความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ การสร้างความสมดุลทางสังคม เพราะหากสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ จะทำให้การพัฒนาสะดุด และการสร้างความสมดุลทางวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของประเทศ

กรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เห็นได้จากความเหลื่อมล้ำของรายได้ปัจจุบันที่มีอยู่ โดยขณะนี้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องยื่นแบบ 9 ล้านคน ปรากฏว่า มีผู้เสียภาษีเพียง 2.5 ล้านคน และในกลุ่มดังกล่าวมีผู้เสียภาษี 18,000 คนที่เสียภาษีมากกว่า 4 ล้านบาท โดยกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนวงเงินเสียภาษีมากกว่าครึ่งของผู้เสียภาษีทั้งประเทศ จึงถือว่าประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ต้องแก้ไข

ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2554 จะขยายตัวได้ เพราะคาดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2554 น่าจะจำหน่ายได้ 1.8 ล้านคัน โดยภาคอุตสาหกรรม เกษตรและท่องเที่ยว ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี แต่ยังมีความกังวลในปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม หากราคาเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นเวลานาน ก็จะมีการใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ ทดแทน ทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ในที่สุด โดยอยู่ระหว่าง 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ จากราคาสินค้าหลายประเภทที่สูงขึ้น ทำให้ราคาวัตถุดิบต่างๆ เช่น เหล็กเส้น สูงขึ้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อดูแลเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวน จึงเป็นการบ้านสำคัญที่รัฐบาลต้องดูแล

ด้าน นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ ดังนั้น หากมุ่งเน้นการศึกษา หาทางสร้างรายได้ให้เอสเอ็มอีและเกษตรกร การพัฒนาระบบชลประทานจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการเพิ่มงบประมาณด้านการลงทุน เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น