xs
xsm
sm
md
lg

ฟิตช์คงเรตติ้ง AAA สหรัฐฯ แต่ “ขู่” ถูกลดแน่ถ้า 2 ปี ไร้แผนแก้ขาดดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์ เรตติงส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก
เอเจนซีส์ - บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิตช์ เรตติ้งส์ คงเครดิตเรตติ้งของสหรัฐฯเอาไว้ในระดับสูงสุด หรือ AAA ทว่า ได้ลดแนวโน้มในอนาคต (outlook) ลงเป็นลบ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจจะโตช้า ประกอบกับการชะงักงันทางการเมือง และเพดานหนี้ที่เพิ่มขึ้นภายในทศวรรษนี้ พร้อมเตือนว่าให้เวลาอเมริกาถึงปี 2013 ในการเสนอแผนลดยอดขาดดุลงบประมาณที่ ‘น่าเชื่อถือ’ ไม่เช่นนั้นก็เสี่ยงที่จะถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้ง

ฟิตช์ 1 ใน 3 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ประกาศในวันจันทร์(28) ปรับลดเรตติ้งแนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จากคงที่ (stable) เป็นติดลบ (negative) ภายหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการพิเศษ (super committee) ของรัฐสภาอเมริกัน ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับมาตรการลดยอดขาดดุลงบประมาณอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับว่า อเมริกาจะไม่มีแผนลดยอดขาดดุลงบประมาณที่สำคัญจำเป็นในปีหน้า เพิ่มภาระทางการคลังให้แก่คณะรัฐบาลชุดต่อไปที่จะมาจากการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2012

ฟิตช์สำทับว่า นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนอย่างมากรุมล้อมแนวโน้มผลผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อรวมความล้มเหลวทางการเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ชะลอตัว จะนำไปสู่การลดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างเต็มรูปแบบ

“แนวโน้มติดลบบ่งชี้ว่า ขณะนี้มีโอกาสมากกว่า 50% เล็กน้อยที่จะมีการลดเรตติ้งภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า”

ทางด้าน คอลลีน เมอร์เรย์ โฆษกกระทรวงคลังสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับคองเกรสในอันที่จะต้องลดยอดขาดดุลงบประมาณระยะยาวของประเทศด้วยวิธีการที่สมดุล และหลีกเลี่ยงความพยายามในการยกเลิกกลไกการลดการใช้จ่ายอัตโนมัติ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 10 ปีตามที่ตกลงกันไว้ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

ฟิตช์เสริมว่า ปัจจัยกระตุ้นสำคัญในการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ คือการที่วอชิงตันล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลง ‘แผนลดยอดขาดดุลงบประมาณที่น่าเชื่อถือ’ ภายในปี 2013 ขณะที่เศรษฐกิจก็กำลังชะลอตัว

“ยิ่งความสามารถในการผลิตหยุดนิ่งและอัตราว่างงานสูงยืดเยื้อออกไปเท่าใด ยิ่งมีแนวโน้มว่า ผลผลิตและรายได้จากการจัดเก็บภาษีจะลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งมีนัยแง่ลบต่อแนวโน้มการคลังระยะกลางและระยะยาวของสหรัฐฯ”

เดวิด ไรลีย์ นักวิเคราะห์สินเชื่อระดับสูงของฟิตช์ แจงว่าฟิตช์ให้เวลารัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯที่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2013 จนถึงช่วงครึ่งหลังของปีดังกล่าว เพื่อนำเสนอแผนการลดยอดขาดดุลที่เข้มแข็ง แต่ระหว่างช่วงเวลานั้นไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลกระทบร้ายแรงใดๆ แม้แต่ผลจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ

ฟิตช์ก็เช่นเดียวกับ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสที่ยังคงให้เรตติ้งระดับสูงที่สุด Aaa แก่สหรัฐฯ ทว่าปรับเรตติ้งแนวโน้มมาเป็นติดลบ โดยที่ฟิตช์บอกว่าไม่คิดว่าอเมริกาจะมีมาตรากรลดยอดขาดดุลอย่างสำคัญในปีหน้า อันเป็นปีที่จะมีการทำศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งย่อมทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในวอชิงตันเลวร้ายลง

ฟิตช์ คาดไว้ว่า หนี้สาธารณะของอเมริกาจะพุ่งขึ้นเป็น 90% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นทศวรรษนี้ โดยระดับหนี้ดังกล่าวเป็นระดับที่ไม่สอดคล้องกับสถานะ AAA ของสหรัฐฯ อีกต่อไป แม้โครงสร้างเศรษฐกิจยังมั่นคงอยู่ก็ตาม

สำหรับ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) คู่แข่งอีกรายของฟิตช์นั้น ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของพญาอินทรีแบบที่ไม่เคยทำมาก่อนแล้วด้วยซ้ำ โดยให้อยู่ที่ AA+ รวมทั้งคงแนวโน้มติดลบอีกด้วย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลกับยอดขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล

ทั้งเอสแอนด์พีและมูดี้ส์กล่าวเมื่อวันที่ 21 เดือนนี้ว่า ความล้มเหลวของคณะกรรมาธิการพิเศษของรัฐสภาเกี่ยวกับแผนการลดยอดขาดดุล ไม่มีผลเฉพาะหน้าต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ

กระนั้น สองวันต่อมา มูดี้ส์ เตือนว่า อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ อาจตกอยู่ในความเสี่ยง หากสมาชิกรัฐสภากลับลำกลไกการลดการใช้จ่ายอัตโนมัติที่จะเริ่มมีผลในปี 2013
กำลังโหลดความคิดเห็น