xs
xsm
sm
md
lg

แนะคลังใช้ wtw คำนวณภาษีรถยนต์ “ไบโอฟิวล์” ต้องเริ่มตั้งแต่การปลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พลังงาน” หนุน “คลัง” ปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ แนะการคิดภาษีต้องอิงหลักสากล ชี้ การคำนวณ “ไบโอฟิวล์” ต้องเริ่มที่แปลงพืชพลังงาน เพราะช่วยดูดซับคาร์บอน ตั้งแต่เริ่มปลูก ไม่ใช่คำนวณขั้นสุดท้ายเหมือนน้ำมันฟอสซิล เพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์ด้วย เผยทั่วโลกใช้สูตร wtw เพื่อจัดระดับความสำคัญ

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ โดยมองว่า เป็นเรื่องดีที่มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ร่วมเสนอข้อคิดไปว่า หลักเกณฑ์การคำนวณภาษีรถยนต์จะต้องอิงหลักสากล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยเฉพาะการคำนวณเรื่องการพลังงานทดแทนประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ ไบโอฟิวล์ (BIOFUEL) โดยต้องเริ่มคำนวณตั้งแต่การปลูกพืชพลังงาน เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม เพราะช่วยดูดก๊าซคาร์บอนตั้งแต่การปลูก ไม่ใช่คำนวณเฉพาะเนื้อน้ำมันขั้นสุดท้าย เหมือนกับน้ำมันที่มาจากฟอสซิลทั่วไป

ซึ่งหากใช้หลักการนี้จะทำให้เกษตรกรได้ผลประโยชน์จากการขายพืชพลังงาน อีกทั้งภาษีรถยนต์บางประเภทที่ใช้ไบโอฟิว เช่น แก๊สโซฮอล์ อี85 จะมีอัตราต่ำ จูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิต และผู้บริโภคก็จะหันมาใช้รถประเภทนี้กันมากขึ้น ยอดขายน้ำมัน อี85 ก็จะเพิ่มสูงขึ้น ปั๊มจำหน่ายก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

“ผมเห็นด้วยกับแนวคิดคลังที่โครงสร้างภาษีรถยนต์ต้องคำนึงถึงการลดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่วิธีการคำนวณก็ควรจะใช้หลักสากลด้วยที่คำนวณค่าดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่กระบวนปลูกพืชพลังงาน แนวคิดนี้เกษตรกรก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการจัดทำโครงสร้างภาษีรถยนต์โดยแนวคิดของกระทรวงสรรพสามิต เน้นเรื่องการส่งเสริมรถยนต์ไฮบริดจ์ และรถไฟฟ้าเป็นหลัก เพราะเป็นนโยบายทางการเมือง โดยแนวคิดคำนวณจากการใช้น้ำมันเท่านั้น ไม่ได้มีการแยกไบโอฟูเอล ซึ่งแตกต่างจากทั่วโลกที่คำนึงตั้งแต่กระบวนการปลูกพืช (well to whell : wtw) ทำให้อัตราเปอร์เซ็นต์การคำนวณแตกต่างกัน

ทั้งนี้ หากคิดตามวิธีของคลัง การปล่อยคาร์บอนของกลุ่มเบนซินทุกตัว จะเท่ากับร้อยละ 100 ทำให้อัตราภาษีสูงเท่ากัน แต่หากคำนวณตามหลัก wtw แล้ว จะพบว่า น้ำมัน อี85 ปล่อยคาร์บอน ลดลงร้อยละ 63 น้ำมัน อี20 ลดลงร้อยละ 10 และน้ำมัน อี10 ลดลงร้อยละ 6 ซึ่งจะมีผลต่อากรคำนวณภาษีรถยนต์ให้น้อยลงไปด้วย

เรื่องดังกล่าว พลังงานได้เสนอต่อกระทรวงการคลัง ว่า อัตราภาษีใหม่ของรถยนต์ อี85 หากคำนวณแบบ wtw ควรต่ำกว่า อี20 หรือรถยนต์นั่งอื่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการรถยนต์ที่มีต่อนโยบายรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 แต่กระทรวงการคลัง แจ้งว่า จะเสนอให้เก็บภาษี อี85 และรถยนต์เอ็นจีวี ไม่จำกัดซีซี แต่ไม่เกิน 3,000 ซีซี ตามการปล่อยคาร์บอน์ไดออกไซด์ในหมวดรถยนต์นั่งทั่วไป และให้สิทธิพิเศษแก่รถยนต์ อี85 และรถยนต์นั่งเอ็นจีวีทุกคัน คันละ 2 หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งแนวทางนี้ไม่จูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์ อี85 และเอ็นจีวี

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงเสนอว่า กรมสรรพสามิตควรปรับมาตรการจูงใจใหม่ เช่น การแยกโครงสร้างภาษีรถยนต์ อี85 และเอ็นจีวี ออกจากรถยนต์นั่งปกติด้วยโครงสร้างภาษีต่ำกว่าร้อยละ 3 ตามโครงสร้างภาษีใหม่ของกรมสรรพสามิต

โดยเบื้องต้น ควรให้รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดจ์ปลั๊กอิน และฟูเอลเซล ที่ร้อยละ 10 อีโคคาร์ ร้อยละ 17 ส่วนรถยนต์นั่งให้ปรับอัตราภาษีตามมูลค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ต่ำกว่า 150 กรัมต่อ กิโลเมตร อัตราภาษีลดลงร้อยละ 5 จากอัตราที่กำหนด,ระหว่าง 150-200 กรัมต่อ กิโลเมตร เก็บภาษีตามที่กำหนด, มากกว่า 200 กรัมต่อ กิโลเมตร เก็บภาษีเพิ่มร้อยละ 5

ส่วนรถกระบะ และดับเบิลแค็บ มีการแบ่งภาษีตามมูลค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ น้อยกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร ให้เก็บภาษีตามที่กำหนด ส่วนมากกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร ให้เก็บเพิ่มร้อยละ 5
กำลังโหลดความคิดเห็น