“ซีพี” คาดภัยพิบัติกระทบ “จีดีพี” ญี่ปุ่นหดตัว 0.2% มั่นใจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีคุณภาพและวินัย รมว.อุตฯ ยันต้องเร่งช่วยซับน้ำตาผู้ประสบภัย เผย กุลุ่มอาหาร “ซีพี-สหฟาร์ม-เบทาโกร” ได้ติดต่อขายสินค้าพร้อมรับประทาน READY MEAL ให้ญี่ปุ่นในราคาต้นทุน
นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ปัญหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิพัดถล่มประเทศญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของญี่ปุ่น ประมาณร้อยละ 0.1-0.2 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 1.3-1.4 จากเดิมคาดการณ์ว่า จะขยายตัวร้อยละ 1.6 ในปีนี้ แต่มั่นใจ ญี่ปุ่นจะฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากเทคโนโลยี และความสามารถของคนญี่ปุ่นที่มีคุณภาพ และมีวินัย
“สิ่งสำคัญที่ไทยควรเรียนรู้ คือ ต้องการให้คนไทยเรียนรู้จากญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นมีความเข้มแข็ง เป็นชาติที่ประชาชนมีวินัย โดยสะท้อนมาดูตัวเอง ให้รักชาติให้มากขึ้น ซึ่งคนไทยต้องร่วมกันสร้างชาติ”
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย คาดว่า ไม่น่าจะมากนัก ยกเว้นภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น มีเพียงร้อยละ 10 ของการส่งออกรวม หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปี แม้เวลานี้ ราคายางพาราของไทยจะลดลง จากผลกระทบญี่ปุ่นปิดโรงงานรถยนต์ เพราะไฟฟ้าไม่เพียงพอ แต่ในไม่ช้า ก็จะเปิดโรงงานเช่นเดิม และกลับมาผลิตรถยนต์ได้ตามปกติ
ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจอาหารและการเกษตร นั้น คาดว่า คงจะไม่มีผลกระทบ เหตุคนญี่ปุ่นยังต้องบริโภค แต่จะกลับเป็นโอกาสให้ไทยส่งสินค้าอาหาร และข้าว ไปขายในญี่ปุ่นได้มากขึ้น ขณะที่ ธุรกิจของซีพี ที่ปัจจุบัน มีการส่งออกไก่และกุ้งแช่แข็งไปญี่ปุ่น ยังไม่ได้รับผลกระทบ เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในไทยและประเทศในอาเซียนมากขึ้น เพราะปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในเออีซี มากขึ้น เพราะไม่มีต้นทุนจากการภาษีเป็น 0% ภายใต้กรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นและอาเซียน ทำให้อาเซียนจะเป็นฐานการผลิตสำคัญในอนาคตของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีที่องค์การอาหารและยา (อย.) ระบุว่า อาหารญี่ปุ่นอาจมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี จากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นายอาชว์ กล่าวว่า ไม่น่าจะกระทบกับสินค้านำเข้าที่ผลิตไว้ก่อนแล้ว แต่สินค้าที่ผลิตหลังจากนี้ คงต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งไทยมีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว และจากการติดตามเหตุการณ์ดังกล่าว กัมมันตรังสีที่กระจายออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยังไม่มาถึงไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป แต่อย่าตื่นตระหนก เพราะญี่ปุ่นน่าจะมีการควบคุมที่ดี
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องเร่งฟื้นฟูช่วยเหลือคนญี่ปุ่นเป็นเรื่องสำคัญและต้องดำเนินการก่อน และขณะนี้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยได้แก่ ซีพี สหฟาร์ม และ เบทาโกร ได้ติดต่อที่จะขายสินค้าพร้อมรับประทานหรือ READY MEAL ส่งขายให้ในราคาต้นทุนแก่ชาวญี่ปุ่น ส่วนความช่วยเหลืออื่นๆ ก็พร้อมที่จะช่วยหากมีการร้องขอเข้ามา
ทั้งนี้ รมว.อุตฯ จะเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2554 นี้ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยการประชุมจะมีขึ้นในเวลา 15.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน