xs
xsm
sm
md
lg

Focus : โลกแซ่ซ้องญี่ปุ่น “มีสติ-เตรียมพร้อม” แม้บ้านเมืองย่อยยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้รอดชีวิต 2 รายเข้าสวมกอดกันด้วยความดีใจหลังได้พบหน้า ที่เมืองโอฟุนาโตะ จังหวัดอิวาเตะ วานนี้(14)
เอเอฟพี - แม้จะเผชิญทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ชาวญี่ปุ่นก็แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและพร้อมรับสถานการณ์อย่างดีเยี่ยม จนนานาชาติต่างชื่นชม

สถานีโทรทัศน์ทั่วโลกเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ขณะคลื่นยักษ์ซัดถล่มบ้านเรือนในญี่ปุ่นและหอบเอารถยนต์นับสิบคันลอยไปตามน้ำราวกับของเล่นเด็ก ประชาชนผู้รอดชีวิตต่างยืนตะลึงกับความย่อยยับที่เห็นอยู่ตรงหน้า

แต่ภาพที่ปรากฏยังสื่อให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง นั่นคือภาพชาวญี่ปุ่นที่ออกตามหาบุคคลอันเป็นที่รัก หรือรอคอยสิ่งของบรรเทาทุกข์ด้วยอาการสงบ ไม่มีการปล้นชิงหรือความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น แม้จะต้องเข้าแถวรอซื้อสินค้าที่ขายกันจนเกือบเกลี้ยงร้านก็ตาม

สื่อสังคมออนไลน์ต่างนิยามคนญี่ปุ่นว่าเป็นมนุษย์ที่ “ปลงตก” พร้อมตั้งคำถามว่า หากภัยพิบัติเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในโลกตะวันตกบ้างจะเป็นอย่างไร

โจเซฟ เนย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นว่า ภัยธรรมชาติครั้งนี้อาจช่วยส่งเสริม “พลังอันนุ่มนวล” ของญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงการสร้างความสำเร็จโดยเผยบุคลิกอันน่าดึงดูดออกมา

“แม้โศกนาฏกรรมครั้งนี้จะหนักหนาสาหัส แต่ก็ทำให้เราได้เห็นคุณสมบัติที่น่าดึงดูดของชาวญี่ปุ่น และนั่นอาจจะช่วยส่งเสริมพลังอันนุ่มนวลของพวกเขา” เนย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านอีเมล

“นอกจากจะทำให้โลกรู้สึกเห็นใจแล้ว พวกเขายังแสดงให้เห็นว่าเป็นสังคมที่มั่นคง มีระเบียบเรียบร้อย และพร้อมรับมือกับภัยพิบัติรุนแรงอย่างที่ชาติพัฒนาแล้วควรจะเป็น”

ที่ผ่านมา การมอบเงินช่วยเหลือแก่ต่างชาติถือเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของญี่ปุ่น แต่หลังจากนี้คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจพิจารณาลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อฟื้นฟูประเทศ
บริษัทผลิตอาหารแห่งหนึ่งเตรียมข้าวปั้นใส่กล่องเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยในเมืองอากิตะ วันนี้(15)
ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้จะช่วยให้ญี่ปุ่นเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ หลังจากเผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซา, อัตราความชราสูง และการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นว่าเล่นมานานหลายปี

“ปัญหาอยู่ที่ญี่ปุ่นจะสามารถรับมือกับสิ่งที่จำเป็น, ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ และฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นได้หรือไม่” นิโคลาส เซเชนยี รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) เผย

“อาจยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ใดๆ แต่เท่าที่ดูขณะนี้ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นความยืดหยุ่นในเวลาวิกฤต ซึ่งบอกอะไรได้มากมายเกี่ยวกับอนาคตของประเทศนี้ในอีกหลายวันหรือหลายสัปดาห์ข้างหน้า”

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องกลับมาพิจารณาถึงความปลอดภัยของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์

กลุ่มผู้คัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ใช้สถานการณ์ในญี่ปุ่นเป็นเหตุผลเพื่อยับยั้งการพัฒนาพลังงานประเภทนี้ ขณะที่ผู้สนับสนุนในสหรัฐฯก็เรียกร้องให้ทบทวนเรื่องความปลอดภัยกันใหม่

อย่างไรก็ตาม จอน คีล วุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกันของสหรัฐฯ กลับแสดงความชื่นชมต่อการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

“สุดท้ายชาวญี่ปุ่นอาจจะหลีกเลี่ยงหายนะครั้งนี้ไปได้อย่างสวยงามก็เป็นได้” คีล ให้สัมภาษณ์

หากไม่นับรวมปัญหานิวเคลียร์แล้ว สื่อมวลชนต่างสรรเสริญวิธีการตอบสนองภัยพิบัติของญี่ปุ่นทั้งสิ้น

หนังสือพิมพ์เนชันแนลโพสต์ ของแคนาดา ระบุว่า วิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของญี่ปุ่น “ช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้นับแสน”

“ประชาชนไม่ต้องเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกอาคารบ้านเช่าที่ง่อนแง่นถล่มลงมาทับ ซึ่งต่างกับที่เคยเกิดในเฮติ (2010) ปากีสถาน (2005) และเสฉวน (2008)”

บทบรรณาธิการของวารสารวอลล์สตรีท บรรยายไว้ว่า “หลังเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงที่สุดในรอบ 300 ปี คนญี่ปุ่นยังคงมีสติท่ามกลางความสับสน สามารถระดมความช่วยเหลือถึงมือผู้ประสบภัยได้อย่างมหาศาล และได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศ”
ทหารญี่ปุ่นขนน้ำและเครื่องดื่มลงจากเรือบรรทุกเครื่องบิน โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน วานนี้(14)
กำลังโหลดความคิดเห็น