สนง.ปรมาณูฯ ยันไทยไร้สารกัมมันตภาพรังสี ยันผลสอบปริมาณรังสีแกมม่าในไทย “ปกติ” พร้อมติดตามข้อมูลจากทบวงฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นายก ส.นิวเคลียร์ ปลอบคนไทยอย่าตื่นตระหนก ข่าวสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล ยันไม่สามารถแพร่ถึงไทยได้ พร้อมระบุ ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพราะมีอายุสั้นเพียง 1 เดือน ก็จะสลายตัวไปในอากาศ “เทปโก้” ยอมรับเตาปฏิกรณ์ยังไม่พ้นจุดเสี่ยง นายกฯ คัง ฝากความหวังทีมนิวเคลียร์ กู้ชะตาประเทศชาติ
นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวล ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ ที่ระเบิดในญี่ปุ่น อาจทำให้สารกัมมันตภาพรังสีนิวเคลียร์ฟุ้งกระจายกระทบประเทศไทย และอาเซียน โดยระบุว่า สำนักงานได้สั่งการให้ตรวจวัดปริมาณรังสีแกมม่าในอากาศ ของพื้นที่ที่มีนิวเคลียร์ในสถานีเฝ้าระวังภัย 4 สถานีทั่วประเทศ คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา พบว่า ค่าที่วัดได้อยู่ระดับปกติ และสำนักงานได้ติดตามข้อมูลที่ได้รับจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรายงานเหตุการณ์ให้ประชาชนทราบหากมีเหตุการณ์ไม่ปกติ
นายปรีชา การสุทธิ์ อดีตนายกสมาคมนิวเคลียร์ กล่าวเสริมว่า โดยปกติการแพร่กระจายของรังสีนิวเคลียร์ และสารประกอบอื่นๆ เช่น แก๊ส และไอโอดีน จะแพร่กระจายอยู่ในอากาศไม่เกิน 8 วัน ก่อนจะเจือจางและสลายไปในที่สุด ซึ่งทางการญี่ปุ่นมีมาตรการควบคุม โดยอพยพประชาชนออกจากรัศมี 3 กิโลเมตร และให้บริโภคเม็ดเกลือไอโอดีน เพื่อป้องกันการสะสมของสารไอโอดีน 131 ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งในต่อมไทรอยด์ ส่วนประชาชนที่อยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตร ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศ และปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด
“เมื่อดูจากกระแสลม พบว่า พัดออกจากญี่ปุ่นไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก จึงไม่มีทางที่กัมมันตภาพรังสีจะแพร่กระจายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาไม่ถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม หากเกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียม 325 รังสีจะอยู่ในอาคารชั้นใน ซึ่งเป็นที่เก็บเชื้อเพลิง โดยการระเบิดที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการทำปฏิกิริยาของไฮโดรเจนกับอากาศ แต่ไม่ได้เกิดจากการระเบิดของเชื้อเพลิงแต่อย่างใด
โดยก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างคำกล่าวของสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงโตเกียว ซึ่งระบุว่า ลมซึ่งพัดพาเอาสารกัมมันตภาพรังสี อาจพัดมาถึงกรุงโตเกียวภายใน 10 ชั่วโมง หลังจากนี้ ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ทางการกรุงโตเกียว ระบุว่า พบระดับสารกัมมันตภาพรังสีที่สูงกว่าปกติในกรุงโตเกียวแล้ว อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ระดับสารกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนแต่อย่างใด
ขณะที่ บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เทปโก้) ของญี่ปุ่น ยอมรับว่า สถานการณ์ระเบิดที่อาคารปฏิกรณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา หมายเลข 1 อยู่ระหว่างการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งยังไม่พ้นจุดที่มีความเสี่ยง ซึ่งต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ ต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายนาโอตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ตำหนิอย่างรุนแรง ต่อแนวทางของเทปโก้ ในการจัดการกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พร้อมได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของเทปโก้ ใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะพวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวที่สามารถรับมือกับปัญหาได้ และยังเรียกร้องขอคำอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่อาคารปฏิกรณ์หมายเลข 2 ที่ได้รับความเสียหาย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยังได้สั่งการอย่างเด็ดขาดไม่ให้บริษัทถอนเจ้าหน้าที่ออกจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งกำลังเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่องหลังแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว โดยมีทั้งการระเบิดไปจนถึงการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี โดยกล่าวย้ำว่า ถ้าหากมีการถอนเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ ผมแน่ใจ 100% ว่า บริษัทจะล้ม พร้อมระบุว่า ผมขอให้พวกคุณทุกคนตั้งใจแก้ปัญหา
ขณะที่ สำนักข่าวเกียวโด รายงานข่าวว่า รัฐบาลและประชาชนต่างไม่พอใจวิธีที่บริษัทเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังมีปัญหา และเรียกร้องให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรัฐบาล และเทปโก้ ได้เปิดศูนย์บัญชาการกู้วิกฤตร่วมกันในวันนี้