รมว.อุตฯ คาดเหตุภัยพิบัติ “แผ่นดินไหว-สึนามิ” ในญี่ปุ่น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้า-การลงทุนไทย ยาวนาน 3 เดือนถึง 1 ปี กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เจอหนักสุด “บีโอไอ” นัดถกผลกระทบ พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือบริษัทที่เดือดร้อน “คมนาคม” หวั่นกระทบแผนกู้เงินไจก้าลงทุนสุวรรณภูมิเฟส 2 และโครงการขยายช่องจราจรเป็น 4 ช่องทาง ของกรมทางหลวง เพราะญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อฟื้นฟูประเทศ คาดหากกระทบจริง เตรียมชงคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่า ปัญหาแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่นที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากญี่ปุ่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นระยะเวลา 3-12 เดือน เนื่องจากญี่ปุ่นต้องใช้เงินมหาศาลในการฟื้นฟูประเทศ ทั้งโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจการลงทุน ได้ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
“คาดว่า เมื่อญี่ปุ่นตั้งหลักได้ ระยะยาวจะเห็นภาพชัดเจนว่า นักลงทุนญี่ปุ่นจะกลับมาลงทุนในประเทศไทย เพราะจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ไทยถือเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ก่อนหน้านี้ นักลงทุนญี่ปุ่นได้ทยอยเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมากแล้ว”
รมว.อุตสาหกรรม ยังคาดอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อเป้าหมายการส่งเสริมลงทุนในปี 2554 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ตั้งไว้ 400,000 ล้านบาทมากนัก ซึ่งในวันที่ 21 มีนาคม 2554 นี้ จะประชุมคณะอนุกรรมการส่งสริมการลงทุน เพื่อหารือแนวทางรับมือผลกระทบด้วย
นอกจากได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสถาบันยานยนต์ ไปประสานกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เพื่อรวบรวมผลกระทบ รวมถึงความต้องการที่จะให้รัฐบาลไทยช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้ กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มาก เพราะมีชิ้นส่วนยานยนต์บางรายการที่ไทยต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น และบางอย่างไทยก็เป็นฐานการผลิต
ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไออยู่ระหว่างการประสานงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย ที่มีโรงงานของบริษัทแม่ได้รับความเสียหาย จะมีกระทบต่อการผลิตในไทยมากน้อยเพียงใด และจะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นโดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร อุปกรณ์ และชิ้นส่วน ที่บริษัทแม่หลายรายมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
โดยบีโอไอจะเชิญบริษัทที่ได้รับผลกระทบมาหารือถึงแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นต่อไป นอกจากนี้ มีแนวคิดที่จะจัดตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่โครงการลงทุนจากญี่ปุ่น ที่อาจย้ายฐานการผลิตหรือเข้ามาขยายการลงทุนในไทย
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม คาดว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่นจะกระทบกับโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมในอนาคต ที่มีแผนจะกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.และโครงการขยายถนนทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ระยะที่ 2 ของกรมทางหลวง (ทล.) เพราะคาดว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจระดมเงินส่วนใหญ่ไปใช้เพื่อฟื้นฟูประเทศ หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
“หากโครงการใหม่ได้รับผลกระทบ เราคงแจ้งไปกระทรวงการคลัง ว่า โครงการไหนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก่อสร้าง และคงให้คลังไปจัดหาแหล่งเงินกู้อื่นเข้ามาแทนไจก้า แต่ก็ต้องดูรัฐบาลก่อนว่า จะมีนโยบายอย่างไร ซึ่งโครงการที่เห็นตอนนี้แล้วมีอยู่ 2 โครงการที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งการขยายช่องจราจร และแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟสที่ 2 ซึ่งเดิมคาดจะใช้เงินกู้จากไจก้า เนื่องจากเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่สุด”
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางสายหลักจาก 2 ช่องจราจรให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะที่ 2 ของกรมทางหลวง มีจำนวน 8 สายทาง ระยะทาง 433 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 5,620 ล้านบาท ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีวงเงินลงทุนประมาณ 6.25 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ทอท.จะดำเนินการก่อสร้างโดยใช้เงินจากรายได้ของตัวเองจำนวน 45,053.214 ล้านบาท หรือประมาณ 72.%ในช่วงปีงบประมาณ 2554-2559 และใช้เงินกู้ต่างประเทศ 17,450 ล้านบาท หรือประมาณ 27% ในช่วงปีงบประมาณ 2558-2559