“บีโอไอ” ฟุ้งแผนขยาย SMEs ปี 53 ไปได้สวย โดยมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 447,400 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมขอลงทุนฮิตสุดได้แก่หมวดบริการและสาธารณูปโภค ด้านปี 54 พบเดือน ม.ค.มีขอขยายลงทุน 120 โครงการ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 35% คาดแนวโน้มทั้งปีมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท
วันนี้ (21 ก.พ.) นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า จากการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่ต้นปี 53 โดยเพิ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมตามมาตรการนี้จากเดิม 10 ประเภท เป็น 57 ประเภท พบว่า ในปี 53 มีผู้ประกอบการ SMEs ไทยยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 147 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 12 เท่าตัว หรือ 1,200% เมื่อเทียบกับปี 52 ที่มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ เพียง 11 โครงการ
โดยกิจการ SEMs ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิต, ถนอมอาหาร, สิ่งปรุงแต่งอาหารที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ, กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก
“นโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่นี้ สะท้อนให้เห็นว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่ SMEs ของบีโอไอ เดินมาถูกทางแล้ว ช่วยให้ SMEs เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มศักยภาพของ SMEs ไทย” เลขาฯบีโอไอ กล่าว
สำหรับภาพรวมการลงทุนในปี 53 ซึ่งมีมูลค่า 447,400 ล้านบาทนั้น อุตสาหกรรมมีผู้สนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค เงินลงทุนรวม 167,000 ล้านบาท โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้า จำนวน 79 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 107,572 ล้านบาท อันดับสอง คือ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ลงทุนรวมกว่า 67,000 ล้านบาท อันดับสาม คือ อุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการลงทุนรวม 66,100 ล้านบาท
ส่วนภาวะการลงทุนในเดือน ม.ค.54 มีจำนวน 120 โครงการ เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 89 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าเงินลงทุน 28,400 ล้านบาท ลดลง 55% เป็นผลมาจากช่วงเดือน ม.ค.53 มีโครงการขนาดใหญ่ยื่นขอรับการส่งเสริมในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจำนวน 7 โครงการ ลงทุนรวม 35,000 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในปี 54 คาดว่า จะไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 54 ได้แก่ อาหารแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานไฟฟ้า รวมถึงปิโตรเคมี เนื่องจากมีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด ขณะที่ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลระดับหนึ่งต่อการลงทุน เพราะธุรกิจบางส่วนได้ชะลอการลงทุนออกไป