xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กโกลุ้นชนะประมูล SPP เพิ่ม 2 โรง จ่อขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มที่ฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เอ็กโก” มั่นใจคว้า 2 โครงการ SPP ในกรอบการรับซื้อไฟฟ้าแบบโคเจเนอเรชันเพิ่มเติมอีก 1,500 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตโรงละ 120 เมกะวัตต์ และมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า ที่ฟิลิปปินส์เพิ่ม รวมกับการเข้าถือหุ้น 12.5% ในโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ขนาด 1285 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเฉียด 5,000 เมกะวัตต์

นายวินิจ แตงน้อย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่า ได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบโคเจเนอชัน (SPP) ภายใต้กรอบการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 1,500 เมกะวัตต์ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 2 โครงการ ขนาดกำลังผลิต 120 เมกะวัตต์/โครงการ คาดว่า จะประกาศผลอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกนี้

ทั้งนี้ โครงการ SPP ที่คาดว่า จะได้รับคัดเลือกทั้ง 2 แห่ง เบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้น 100% แต่ก็เปิดช่องให้ลูกค้าที่ซื้อไฟและไอน้ำรายใหญ่เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย รวมทั้งยังมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่โครงการเควซอน เนื่องจากฟิลิปปินส์ยังขาดแคลนไฟฟ้าอีกมาก ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าเควซอนมีกำลังการผลิตอยู่ 460 เมกะวัตต์ โดยเอ็กโกเข้าไปถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 52.125% และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในไทยเพิ่มเติมอีก

นายวินิจ กล่าวต่อไปว่า จากการที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด จากช.การช่าง ในสัดส่วน 12.5% ของหุ้นทั้งหมดในโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ที่ สปป.ลาว ขนาดกำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแบบพลังน้ำแบบฝายน้ำล้น คาดโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.15 แสนล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8ปี จะดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ ม.ค.2562

โครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาปริมาณน้ำ เชื่อว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่จีนจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลง แต่จะช่วยชะลอแม่น้ำโขงไม่ให้แห้งเร็ว และเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อย เพราะไม่ได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

โครงสร้างการถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ประกอบด้วย ช.การช่าง 57.5% นที ซินเนอร์ยี่ (ในเครือ ปตท.) 25% เอ็กโก 25% และบริษัท พี.ที.คอนสตรัคชั่น แอนด์ อิริเกชั่น 5% ซึ่ง บริษัทพร้อมที่จะซื้อหุ้นในไซยะบุรีเพิ่มเติม หากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง ช.การช่าง ขายหุ้นออกมาหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ

นายวินิจ กล่าวต่อไปว่า จากโครงการลงทุนดังกล่าวข้างต้นนี้ เมื่อรวมกับโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ที่ลพบุรี 55 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าเอสพีพีแบบโคเจนฯที่ได้รับคัดเลือกไปก่อนหน้านี้ 120 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของเอ็กโกใกล้เคียง 5,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตรวม 4,361 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าในอาเซียน ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาว ซึ่งการมีพันธมิตรทางธุรกิจอย่างโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (TEPCO) และ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เนื่องจากTEPCO มีความแข็งแกร่งด้านการรับเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้า อีกทั้งความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) และ TEPCO ตั้งงบลงทุนธุรกิจในต่างประเทศประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ในปี 2663

ทั้งนี้ ผู้บริหารของTEPCO ได้ยืนยันว่า การเข้ามาถือหุ้นร่วมกับมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น แทนซีแอลพี โฮลดิ้ง นั้น เป็นการลงทุนระยะยาว โดยมองเอ็กโกเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่พร้อมจะร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ บริษัทจะหารือกับ TEPCO เพื่อกำหนดทิศทางการทำกลยุทธ์ทางธุรกิจไฟฟ้าร่วมกันในอนาคต

สำหรับผลการดำเนินงานของเอ็กโกในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่บริษัทมีรายได้รวม 1.51 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 6.79 พันล้านบาท จากการรับรู้รายได้น้ำเทิน 2 เต็มปี และการเข้าไปถือหุ้นเพิ่มในโรงไฟฟ้าเควซอนอีก 26.125% และมีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ แม้ว่ารายได้ค่าไฟฟ้าลดลงจากโรงไฟฟ้าระยอง และบีแอลซีพี รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น