กรมเชื้อเพลิง ฟุ้งเอกชนแห่ยื่นรับสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น หลังราคาน้ำมันโลกพุ่งเกิน 100 ดอลลาร์ คาด อยู่ในระดับคุ้มการลงทุนแน่ หากน้ำมันโลกขยับไปแตะ 140 ดอลลาร์ ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศอยู่ที่วันละ 8 แสนบาร์เรล แต่ผลิตได้เพียงวันละ 1.5 แสนบาเรล คาด เริ่มประมูลได้ต้นปี 55 เผยพื้นที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน
นายทรงภพ พลจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้มีผู้ประกอบการมายื่นเรื่องขอรับสัมปทานขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมมากขึ้น โดยในการเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 20 นี้ ราคาน้ำมันจะขึ้นไป 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ผลเสียคือ ราคาน้ำมันในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยปริมาณการใช้ปิโตรเลียมในประเทศอยู่ที่ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ไทยสามารถผลิตปิโตรเลียมได้เพียง 1.5 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึง 20% ของปริมาณการใช้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา
ทั้งนี้ แหล่งที่ถือว่ามีศักยภาพในประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแหล่งทะเลอันดามันน้ำลึก โดยในแหล่งทะเลอันดามันน้ำลึกเป็นพื้นที่ใกล้กับแหล่งเยตากุน แหล่งยานาดา ในประเทศสหภาพพม่า ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนในขุดหลุมสำรวจ 1 หลุม สูงถึง 60 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับแหล่งในอ่าวไทยที่ใช้เงินลงทุนในการสำรวจเพียง 3-5 ล้านดอลลาร์ แต่ถือว่าเป็นแหล่งที่น่าสนใจอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ
ส่วนในทะเลอันดามันปัจจุบันมีการให้สัมปทานปิโตรเลียมแก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ซึ่งได้ทำการสำรวจในบริเวณนั้นมาเป็นเวลาประมาณ 4 ปีแล้ว แต่ยังไม่พบปิโตรเลียมมากพอที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ โดยในปลายเดือนมีนาคม 2554 นี้ ปตท.สผ.จะมารายงานความคืบหน้าของการสำรวจในบริเวณนั้น ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีนโยบายให้สำรวจเพิ่มเติมในบริเวณที่ใกล้กับประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ในโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับแหล่งยาดานา และ เยตากุน อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
สำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติ 3 หลุมจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความน่าสนใจ คือ TEW-E ใน จ.กาฬสินธุ์ ของบริษัท Tatex Thailand, LLC, หลุมดาวเรือง 2 จ.ชัยภูมิ ของ บริษัท Salamander Energy และหลุมรัตนะ จ.ขอนแก่น ของ ปตท.สผ.ซึ่งหากประสบความสำเร็กจในการสำรวจทั้ง 3 แปลงนี้ ก็จะทำให้มีผู้เข้ามาขอรับสัมปทานมากขึ้น ทำให้คาดว่าจะสามารถเก็บค่าภาคหลวงได้มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท
รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดให้สัมปทานการสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ครั้งที่ 21 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็วสุด คือ ในช่วงปลายปีนี้ หรืออาจจะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพิจารณา โดยการพิจารณาจะต้องมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น และต้องพิจารณาจากฐานะทางการเงินของบริษัทที่จะเข้ามาประมูลด้วย ซึ่งขณะนี้มีหลายรายที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาสำรวจในครั้งนี้ เช่น จีน
สำหรับแนวคิดของรัฐบาลที่จะนำเงินค่าภาคหลวงมาใช้ชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี ) ก็สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ 1.ปรับแก้กฎหมาย และ 2.กระทรวงพลังงานต้องส่งเงินเข้ารัฐบาล และจึงนำเป็นเงินงบประมาณออกมาใช้ในการชดเชยราคาดังกล่าว