xs
xsm
sm
md
lg

เล็งยื่นรมว.พลังงานคนใหม่ชัดเจน เลิกแผนนิวเคลียร์แล้วใช้เชื้อเพลิงใด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ก.พลังงานลุ้นระทึกรัฐบาลเพื่อไทยหลังส่งสัญญาณเลิกแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตาามแผนพีดีพี เล็งเสนอรมว.พลังงานคนใหม่ชัดเจนว่าจะให้ใช้เชื้อเพลิงใดทดแทนเพื่อฝ่ายปฏิบัติจะได้มุ่งหน้าได้ถูกทาง เผยสำรองก๊าซฯพิสูจน์แล้วอีก 10 ปีข้างหน้าทยอยหมด มองไม่เห็นทางเลือกนอกจากถ่านหิน ซื้อไฟฟ้าเพื่อนบ้าน พึ่งแอลเอ็นจีที่ราคาแพง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานคงจะต้องขอความชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ถึงนโยบายการเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(พีดีพี)ปรับปรุงใหม่ที่ได้เลื่อนออกไปจากแผนเดิม 3 ปีจากเดิมปี 2563 เป็นปี 2566 แทนนั้นจะยกเลิกดำเนินการตามแผนดังกล่าวหรือไม่ และหากยกเลิกจะก้าวไปสู่การใช้เชื้อเพลิงชนิดใดเพื่อให้การปฏิบัติงานของข้าราชการประจำมีทิศทางที่ชัดเจน

“ ล่าสุดได้ยินว่ารัฐบาลเพื่อไทยประกาศจะยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็คงขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ในแง่ปฏิบัติแล้วถ้ายกเลิกจะใช้เชื้อเพลิงใดคงต้องชัดเจนด้วยเพราะหากไม่เช่นนั้นไทยจะเตรียมตัวรองรับกับแผนพัฒนาเชื้อเพลิงไม่ทัน ซึ่งจะกระทบกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าในที่สุด”แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2564 ไทยจะเสี่ยงกับวิกฤตการบริหารด้านเชื้อเพลิงเนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซที่พิสูจน์แล้วในอ่าวไทยจะหมดลงในช่วงดังกล่าวซึ่งทางเลือกของไทยจึงไม่พ้นที่จะต้องหันไปพึ่งพิงโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) การซื้อไฟและพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่ม และการเพิ่มการพัฒนาพลังงานทดแทนหากไม่มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยรวมกับนำเข้าพม่าอยู่ระดับ 4,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันขณะที่ความสามารถในการจัดหาก๊าซฯอยู่ในระดับ 4,000-5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งจะเต็มประสิทธิภาพของระบบท่อก๊าซฯไทยในช่วงปี 2555 ขณะที่ความต้องการของไทยในปี 2575 จะสูงถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันทำให้ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาเสริมกับความต้องการใช้ ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยสูงมากแล้วจึงควรจะลดความเสี่ยงด้วยเชื้อเพลิงอื่นและทางเลือกสำคัญระยะแรกคือโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด

“ถ้าการใช้ก๊าซฯเรายังโตเฉลี่ย 3% ทุกปีก็จะทยอยหมดลงในอีก 10 ปีข้างหน้าที่เหลือก็ต้องพึ่งพิงพม่า และแอลเอ็นจีดังนั้นหากโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพีดีพีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ไม่เป็นไปตามแผนแล้วต้องหันใช้ก๊าซฯ สำรองก๊าซก็จะมีปัญหา ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นไทยเองก็ไม่ควรจะปฏิเสธเพราะยังมีเวลาตัดสินใจอีก 3 ปีเพราะแผนได้เลื่อนออกไปในขณะนี้ยังมีเวลาที่จะศึกษาเพราะต้องยอมรับว่าทิศทางพลังานของโลกที่จะกระจายความเสี่ยงจากน้ำมันก็มีเพียงก๊าซฯ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ ”นายทรงภพกล่าว

อย่างไรก็ตามกรมฯเตรียมจะเสนอรมว.พลังงานคนใหม่ให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ในปี 2555 รวมไปถึงแนวทางการเจรจากับ พื้นที่ปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพื่อที่จะสามารถนำมาเพิ่มสัดส่วนสำรองก๊าซฯของไทยในระยะยาวช่วง 10 ปีข้างหน้าได้ โดยกระบวนการเปิดสัมปทานและการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนนั้นต้องอาศัยเวลาแต่ไทยเองก็จะต้องมองถึงความจำเป็นในจุดนี้เพื่อยืดสำรองก๊าซฯที่ไทยมีให้มากที่สุด ขณะเดียวกันการมีแอลเอ็นจีก็เป็นการเสริมความมั่นคงพลังงานไทยแต่แอลเอ็นจีนั้นมีราคาค่อนข้างสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น