รัฐเตรียมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 เน้นพื้นที่ภาคอีสาน แย้มมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสูงถึง 5-10 ล้านล้าน ลบ.ฟุต คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณในอ่าวไทย ชั้นความหนา 1-2 กม. และมีโครงสร้างที่ใหญ่มาก กินพื้นที่กว่า 1 แสนตาราง กม. ยันศักภาพรองรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือผลิตก๊าซเอ็นจีวีป้อนได้ทั้งอีสาน คาดใหญ่กว่าซาอุฯ
นายทรงภพ พลจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงแนวทางการหาแหล่งพลังงานใหม่ภายในประเทศ โดยระบุว่าขณะนี้ไทยมีความพร้อมในการเปิดสัมปทานสำรวจ และขุดเจาะปิโตรเลียมรอบใหม่รอบที่ 21 แล้ว โดยรอเพียงการตัดสินใจของรัฐบาลว่า จะตัดสินใจดำเนินการช่วงไหน
รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยอมรับว่า ปัจจุบันแปลงปิโตรเลียมที่มีศักยภาพเหลืออยู่ทั่วประเทศมีประมาณ 30 แปลง โดยจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นประมูลคราวละ 5 แปลง ซึ่งต่างจากครั้งที่ผ่านมาเปิดให้ขอสัมปทานทั้งปีในทั่วประเทศ และพบปัญหาหลายด้าน เช่น การถอนตัวเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำลง
สำหรับพื้นที่มีศักภาพเปิดสัมปทานในรอบที่ 21 คือ พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงกว่าแหล่งสัมปทานในอ่าวไทย หรือในภาคกลาง ที่เปิดสัมปทานไปจนเต็มพื้นที่เกือบหมดแล้ว ซึ่งการให้ความสำคัญกับการสำรวจปิโตรเลียมในภาคอีสานมาก เพราะการเปิดสัมปทานในรอบที่ 19 และ 20 เมื่อปี 2548 บริษัทที่ขอสัปทานสำรวจพบก๊าซในภาคอีสานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากพบก๊าซในปริมาณที่มากพอจะสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่มเติม หรือนำมาผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ขายให้ประชาชนในแถบอีสานได้
นอกจากนี้ การประเมินทางธรณีวิทยาพบว่าในภาคอีสานน่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติถึง 5-10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) หรือคิดเป็น1 ใน 3 ของปริมาณในอ่าวไทย ซึ่งมีปริมาณสำรองที่พบแล้ว 30 ล้านล้าน ลบ.ฟุต โดยไทยต้องเร่งจัดหาก๊าซ เพราะปัจจุบันเหลือใช้ไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า โดยในอ่าวไทยเหลือก๊าซอยู่เพียง 23-24 ล้านล้าน ลบ.ฟุต เท่านั้น มีการนำขึ้นมาใช้ปีละ 1 ล้านล้าน ลบ.ฟุต ขณะที่ปริมาณก๊าซที่ขุดพบในภาคอีสาน เช่น ในแหล่งน้ำพองจะหมดในอีก 4-5 ปี แหล่งภูฮ่อมมีสำรองเหลืออยู่อีก 100 ล้าน ลบ.ฟุต โดยบริษัทที่รับสัปทานอยู่ระหว่างการสำรวจอย่างละเอียดเพื่อหาก๊าซในแถบน้ำพองเพิ่ม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาคอีสานมีหินต้นกำเนิดเป็นหินปูนที่ให้ก๊าซมากกว่าน้ำมัน ซึ่งมีอายุถึง 250 ล้านปี เป็นหินที่แข็งและหนามากประมาณ 1-2 กิโลเมตร และมีโครงสร้างที่ใหญ่มากมีพื้นที่กว่า 1 แสนตารางกิโลเมตร จึงต้องพิจาณาว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อหารอยแตกของหินให้เจอเพื่อนำเอาก๊าซมาใช้ในอนาคต
“ผมบอกได้คำเดียวว่า ถ้าเราเจอก๊าซในทุกโครงสร้างของภาคอีสาน ผมว่าไทยจะใหญ่กว่าประเทศซาอุดิอาระเบียเสียอีก แต่ที่ผ่านมาโอกาสเจอก๊าซในภาคอีสานอยู่ที่ 20% เมื่อเทียบกับอ่าวไทยเจอในระดับ 50-60% และบางโครงสร้างที่ขุดเจาะสำรวจต้องใช้เวลากว่า 20 ปีถึงจะเจอหลุมก๊าซฯ” นายทรงภพกล่าวสรุป