ม.หอการค้า เผยผลสำรวจ “แท็กซี่” หนี้ท่วมหัว-ชักหน้าไม่ถึงหลัง ส่วนใหญ่พอใจ 9 มาตรการ “ประชาวิวัฒน์” มัดใจกลุ่มรากหญ้า “ธนวรรธน์” หนุนรัฐดูแลค่าครองชีพ ตรึงราคา “ดีเซล-แอลพีจี” กังวล “ลิเบีย” นองเลือด ลามอาหรับ-ดันราคาน้ำมันพุ่ง กระทบเงินเฟ้อ และการขยายตัว ศก.
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจเรื่อง “ปัญหาหนี้ และความพึงพอใจต่อการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ” (กรณีผู้ขับแท็กซี่) จากการสำรวจระหว่างวันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ 2554 จากจำนวนทั้งสิ้น 1,176 ตัวอย่าง (เฉพาะผู้ขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล) โดยพบว่า ภาระหนี้ของครอบครัวผู้ขับแท๊กซี่ 85.2% ตอบว่ามี 14.8% ตอบว่าไม่มี
ส่วนภาระหนี้ของครัวเรือนของผู้ขับรถแท็กซี่ จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 148,705.73 บาท ซึ่งเป็นสัดส่วนหนี้ที่สูงมากผ่อนชำระต่อเดือน 7,557.45 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 57.50% หนี้นอกระบบ 42.50%
สำหรับการเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล พบว่า มีเพียง 16% ที่เข้าร่วม โดยกลุ่มที่เข้าร่วมจนถึงขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการติดต่อภายหลังจากมีการลงทะเบียนแล้ว
ขณะที่กลุ่มผู้ขับแท็กซี่อีก 84% ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากยังไม่รู้รายละเอียด ไม่กล้าที่จะเข้าร่วมโครงการ และส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ คือ ค่าเช่ารถที่ควรให้ความเป็นธรรมกับผู้เช่า ราคาสินค้า และราคาน้ำมันที่เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงราคาแก๊สที่ต้องไม่ให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อถามถึงการรับรู้และความพึงพอใจเกี่ยวกับโครงการประชาวิวัตน์ 9 มาตรการ 90.1% ตอบว่า รู้ จากจำนวนนี้ ถามถึงความพึงพอใจ 51.4% ตอบว่า พอใจมาก 40.5% พอใจปานกลาง 7.9% พอใจน้อย 0.3% ไม่พอใจเลย และ 9.9% ตอบว่า ไม่รู้ เมื่อให้คะแนนความพึงใจโดยรวม 4.51 คะแนนจากคะแนนเต็ม 6 คะแนน
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ภาวะรายได้ที่แม้จะยังพอหาได้ของแท็กซี่ยังมีอยู่ และปัญหาค่าใช้จ่ายสูงจากค่าครองชีพแพง ทำให้การออมต่ำ และเกิดปัญหาหนี้สิน จึงเห็นว่า แนวทางดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลมาถูกทาง และสอดคล้องกับสถานการณ์
นายธนวรรธน์ ยืนยันว่า มาตรการดูแลค่าครองชีพ โดยตรึงราคาก๊าซแอลพีจี และน้ำมันดีเซลในช่วงนี้ ถือว่าเหมาะสม เพราะทิศทางราคาพลังงานจะสูง จากเหตุความไม่สงบในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ควรดำเนินการในระยะสั้น และเมื่อให้ปรับราคาเพิ่มควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อการปรับตัวรับมือได้ทัน ทั้งในส่วนภาคขนส่งอย่างผู้ขับแท็กซี่ และภาคอุตสาหกรรม
“สถานการณ์ตะวันออกกลาง ถ้ายืดเยื้อไป 2-3 เดือนจากนี้ และหากลุกลามไปถึงซาอุดิอาระเบีย จะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกชะงัก และเป็นไปได้ที่จะต้องปรับคาดการณ์จีดีพีลง ซึ่งอาจขยายตัวต่ำกว่า 4% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สหรัฐอเมริกา และซาอุดีอาระเบีย จะไม่ปล่อยให้สถานการณ์ลุกลาม”
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ยังจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ในอนาคต คือ สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย ที่อาจขยายวงกว้างไปในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ผลิตน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เชื่อว่า จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ในเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งยังอยู่ในระดับที่รับได้ พร้อมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบร้อยละ 3.5-4 และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวในกรอบ 4-5% ได้ตามเดิม