xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภควูบ 2 เดือนซ้อน น้ำท่วมใต้ฉุดจีดีพี 0.24%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค.ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ปชช.กังวลผลกระทบน้ำท่วมใต้ สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพพุ่ง และการเมืองไม่แน่นอน พร้อมประเมินผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้ ฉุด GDP ทั้งปี 0.24%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2554 โดยพบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 71.0 ลดลงจาก 72.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ เดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 71.6 และที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.6 โดยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทั้ง 3 ตัว ปรับลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภค มีความกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ ปัญหาสึนามิในประเทศญี่ปุ่น สถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมือง

ทั้งนี้ ปัจจัยลบดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความกังวลว่า เศรษฐกิจและโอกาสการหางานในอนาคต อาจปรับตัวแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และทำให้รายได้ในอนาคตลดลง

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ราคาผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น รัฐบาลยังคงนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคม 2554 ยังเติบโตต่อเนื่อง และมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ มองว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้คลี่คลายลง ก็คาดว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2554 และจะอยู่ในช่วงขาขึ้นตลอดไป

อย่างไรก็ตาม ม.หอการค้าไทย ยังคงจับตา ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2554 และเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีนี้ ปัญหาน้ำท่วมคลี่คลายลงโดยเร็ว จะทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ในช่วงปลายไตรมาส 2 แน่นอน

ด้าน นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาวะน้ำท่วมภาคใต้กระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ร้อยละ 0.1-1.0 และกระทบต่อจีดีพีทั้งปี ร้อยละ 0.24 มีมูลค่าความเสียหาย 21,750-26,570 ล้านบาท โดยกระทบภาคเกษตรมากที่สุด 10,000-12,000 ล้านบาท เช่น บ่อกุ้งเสียหาย 1,500 บ่อ ทำให้อีก 5 เดือนข้างหน้าจะไม่มีกุ้งส่งมาจากภาคใต้ และเกิดปัญหาค่าขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เพราะเส้นทางถูกตัดขาด

ทั้งนี้ ความเสียหายดังกล่าวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้เบื้องต้น โดยเฉพาะ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ ซึ่งผลกระทบเศรษฐกิจภาคใต้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 45 ของจีดีพีภาคใต้ทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น