กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจคนกรุง อยากให้อภิปรายไม่ไว้วงใจ รบ.ในตอนนี้ เพื่อตรวจสอบการทำงาน เน้น 3 ประเด็นหลัก ปัญหา ศก.การทุจริต และชายแดน พุ่งเป้า “เทือก” เบอร์ 1 น่ากังขา “มาร์ค-กษิต” โดนด้วย “เจ๊วา-ซาเล้ง” ติดโผ
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์” โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 65.9% เห็นว่าฝ่ายค้านควรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลในช่วงเวลานี้ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และต้องการให้รัฐบาลชี้แจงในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน
ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่ง จำนวน 34.1% เห็นว่า ไม่ควรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเวลานี้ โดยให้เหตุผลว่าบ้านเมืองในขณะนี้มีความวุ่นวายพออยู่แล้ว จึงไม่อยากให้รัฐบาลเสียเวลาในการทำงาน และการเลือกตั้งใหม่ใกล้ถึงแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อถามเฉพาะผู้ที่ระบุว่าควรยื่นอภิปรายในช่วงเวลานี้ พบว่า เรื่องที่ต้องการให้มีการอภิปรายมากที่สุด อันดับแรก คือ เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน เช่น น้ำมันปาล์มขาดตลาด และค่าครองชีพที่สูงขึ้น รองลงมา คือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันโครงการต่างๆ เช่น บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด, การประมูลสินค้าเกษตร, การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง และอันดับสาม เรื่องความมั่นคงของประเทศ เช่น ปัญหาพิพาทตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา, ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนรัฐมนตรีที่เห็นว่าควรถูกอภิปรายมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง 2.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี 3.นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ 4.นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ 5.นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
อย่างไรก็ดี ประชาชนส่วนใหญ่ 54.1% ไม่เชื่อมั่นว่าฝ่ายค้านจะสามารถอภิปรายซักฟอกรัฐบาลได้อย่างชัดเจนตรงประเด็น โดยมีข้อมูล หลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ ขณะที่ประชาชน 45.9% ระบุว่า เชื่อมั่นว่า ฝ่ายค้านจะอภิปรายซักฟอกรัฐบาลได้อย่างชัดเจนตรงประเด็น
ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 72.6% ไม่เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถชี้แจงและตอบกระทู้ของฝ่ายค้านได้อย่างชัดเจน โดยมีข้อมูลหลักฐานมาแก้ต่างได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ โดยมีเพียง 27.4% เท่านั้น ที่ระบุว่า เชื่อมั่น
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,035 คน ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2554