xs
xsm
sm
md
lg

3 จังหวัดใต้ยังสนใจตั้งโรงถลุงเหล็ก ส่งตัวแทนชาวบ้านศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันเหล็กฯ ยังไม่ถอดใจผลักดันตั้งโรงถลุงในไทย หลังมีตัวแทนจากท้องถิ่น 3 จังหวัดทั้ง ปัตตานี สงขลา และชุมพร สนใจเดินทางดูอุตสาหกรรมเหล็กที่ญี่ปุ่นสัปดาห์นี้ พร้อมชงข้อมูลให้ “ชัยวุฒิ” นำเสนอ กอช.2 แนวทาง แจ้งเกิดโรงถลุงเหล็กในไทยและออกไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วน 4 บริษัทต่างชาติยังยืนยันที่จะรอลงทุนโรงถลุงเหล็กในไทยอยู่

นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้สถาบันฯ พร้อมด้วยตัวแทนจากสมาคมท้องถิ่นจาก 3 ส่วน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ของจังหวัดปัตตานี สงขลา และชุมพร จะเดินทางไปดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเหล็กที่ประเทศญี่ปุ่นที่เมืองโออิตะ และคาวาซากิ ซึ่งการที่ตัวแทนดังกล่าว เดินทางไป เพราะสนใจโครงการโรงถลุงเหล็กคุณภาพสูงที่สถาบันเหล็กฯ กำลังสำรวจหาพื้นที่ในการรองรับการลงทุนอยู่ โดยคาดว่าปีนี้จะเห็นภาพชัดเจนถึงการลงทุน

“เราส่งหนังสือเชิญไปในพื้นที่ที่ศึกษาว่าเหมาะสมในการตั้งโรงถลุงและก็ได้รับการตอบรับที่จะไปดูตัวอย่างการพัฒนาที่ญี่ปุ่นทั้งเมืองโออิตะที่เป็นเมืองใหม่ และคาวาซากิที่เป็นเมืองเก่าที่เคยมีปัญหาด้านมลพิษมาและปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ซึ่งการที่เขามา ก็แสดงว่าสนใจ หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปตัดสินใจร่วมกับชุมชนทั้งหมดว่าพร้อมที่จะตั้งโรงถลุงเหล็กคุณภาพสูงหรือไม่” นายวิกรม กล่าว

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการลงทุนโรงถลุงเหล็กคุณภาพสูงที่สถาบันเหล็กฯ ดำเนินการได้นำสรุปภาพรวมไปยัง นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรมแล้ว เพื่อที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ต่อไป โดยเสนอถึงแนวทางการลงทุนที่สามารถสนับสนุนควบคู่ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

โดยในประเทศรูปแบบจะต้องมีการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ อีโค ทาวน์ มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม และสำคัญเป็นรูปแบบให้คนในพื้นที่เป็นผู้เลือกแผนการพัฒนาและเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการหรือการเป็นหุ้นส่วน ขณะที่ต่างประเทศมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า และกัมพูชา โดยดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งต้องอาศัยการเมืองในการเจรจาด้านความสัมพันธ์เพื่อความมั่นคงต่อการลงทุน

นายวิกรม กล่าวว่า บริษัทเหล็กต่างชาติที่ยื่นแสดงความสนใจที่จะลงทุนโรงถลุงเหล็กคุณภาพสูง 4 ราย ได้แก่ นิปปอนสตีล, เจเอฟอีสตีล, มิททัลอาร์ซีรอล และ บาวสตีล ขณะนี้ยังยืนยันที่จะลงทุนในไทย โดยรอความชัดเจนการหาพื้นที่ตั้งอยู่ ซึ่งท้ายสุดแล้วคงจะต้องให้ทางชุมชนเป็นผู้คัดเลือกและคาดว่าคงจะได้เพียง 1-2 รายเท่านั้น

สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้เหล็กในประเทศปี 2554 คาดว่า จะโต 10% หรืออยู่ที่ระดับ 15 ล้านตันจากปี 2553 ที่มีการใช้สูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 14 ล้านตัน เนื่องจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมทีเกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักรกลการเกษตร และโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ (เมกะโปรเจกต์)

อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กต่างประเทศมีทิศทางสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยราคาเหล็กภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ทำให้แนวโน้มราคาเหล็กในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น