น้ำมันปาล์มขาดเริ่มคลี่คลาย “พรทิวา” สั่งเร่งนำเข้าน้ำมันปาล์มล็อตใหม่ 1.2 แสนตัน ภายใน 20 ก.พ.นี้ ป้องกันปัญหาการขาดแคลน ด้านผู้ผลิตนมกล่องจ่อขึ้นราคา หลังต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำเข้าน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลน โดยระบุว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน และองค์การคลังสินค้า (อคส.) เร่งเจรจานำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์รอบสองจำนวน 120,000 ตัน ก่อนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดช่วง และสินค้าขาดแคลน
ทั้งนี้ โควตานำเข้าน้ำมันปาล์มล็อตแรก 30,000 ตัน คาดว่า จะหมดในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ ซึ่งมั่นใจว่าน้ำมันปาล์มล็อตใหม่จะเข้ามาทัน ไม่เกิดการขาดช่วงและปัญหาขาดแคลนแน่นอน โดยคาดว่า การนำเข้าล็อตใหม่ อาจจะทยอยนำเข้ามาแบ่งเป็น 2 ช่วง
ส่วนสถานการณ์ราคาในตลาดโลก ยอมรับว่า ปรับตัวสูงขึ้นจากครั้งแรกที่นำเข้ามาตันละ 1,280 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเป็นเกินตันละ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคงต้องเข้าไปเจรจากับผู้นำเข้า เพื่อไม่ให้ราคาสูงจนเกินไป และอาจส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีก
สำหรับน้ำมันปาล์มนำเข้ารอบแรกจากมาเลเซีย 30,000 ตัน เริ่มผลิตและออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้แล้ว ซึ่ง ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 สามารถผลิตน้ำมันได้แล้ว 7 ล้านขวด จำหน่ายไปแล้ว 4.8 ล้านขวด เหลืออีก 2.2 ล้านขวด ที่กำลังเร่งทยอยส่งไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และช่องทางอื่น โดยคาดว่าหลังจากนี้จะกระจายออกวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่องจนครบ 22 ล้านขวดได้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 นี้
รายงานข่าวเพิ่มเติมแจ้งว่า ผู้ผลิตนมพร้อมดื่ม เตรียมขอเข้าพบกรมการค้าภายใน เพื่อชี้แจงปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยราคาน้ำนมดิบหน้าโรงงานปรับขึ้นเป็น 17 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ต่อ กก.มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา แต่ราคาขายปลีกไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตาม ทำให้ปัจจุบันเอกชนรายใหญ่ต้องแบกรับต้นทุนแทนผู้บริโภควันละ 1 แสนบาท หรือเฉลี่ยต่อเดือน 4 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ไม่รวมต้นทุนบรรจุภัณฑ์และอื่นๆ ที่ขึ้นราคาไปแล้ว 7-8% อีกทั้งราคานมผงตลาดโลกขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นจาก 350 ดอลลาร์ต่อตัน มาอยู่ที่ 380 ดอลลาร์ต่อตัน
นางพรทิวา กล่าวว่า ตนเองได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปทำแผนทั้งปีของการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ รวมถึงปริมาณน้ำนมดิบภายในประเทศว่ามีเท่าไหร่ เพื่อดูปริมาณและสต๊อกของสินค้าว่ามีเพียงพอหรือมีการกักตุนหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาการปรับขึ้นราคาของสินค้ากลุ่มนม เช่น นมสดพาสเจอร์ไรซ์ นมยูเอสที นมเปรี้ยว นมผงสำหรับเด็ก ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนนมได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก และหากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบตามที่เกษตรกรร้องขออีก 1 บาทต่อ กก. หรือจาก 17 บาทต่อ กก. เป็น 18 บาทต่อ กก. จะทำให้ต้นทุนสินค้านมปรับตัวสูงขึ้นไปอีก
นอกจากสินค้านมแล้ว ยังให้กรมไปจัดทำแผนบริหารจัดการสินค้าอุปโภคบริโภคอีก 3 รายการสำคัญที่มีความเสี่ยงจะขึ้นราคา ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ปุ๋ยเคมี และวัสดุก่อสร้าง เพื่อหาทางแก้ปัญหาสินค้าแพงอย่างเป็นระบบ