xs
xsm
sm
md
lg

อาหารตามสั่ง-ข้าวแกงจ่อปรับราคา “พาณิชย์” กางโพย 7 สินค้าจ่อคิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวบ้านอ่วมแน่ สินค้า-อาหาร จ่อคิวขยับราคาอีกเพียบ หลังต้นทุนพุ่งไม่หยุด เบื้องต้นเฉลี่ยที่ 5% ช่วงไตรมาส 2 ร้านอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง มีโอกาสปรับปรับขึ้นราคาก่อนเพื่อน “พาณิชย์” กางโพย 7 กลุ่มสินค้าสำคัญปรับขึ้นแน่ ผู้ประกอบการครวญแบกต้นทุนไม่ไหวแล้ว

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปี 2554 แนวโน้มราคาสินค้าอาหารน่าจะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 3-5% ทั้งสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ และสินค้าที่ขายเพื่อการส่งออก โดยน่าจะเห็นราคาที่สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการอาจจะมีต้นทุนเก่าอยู่ และรอดูภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบหลักที่สำคัญ เช่น กะทิ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงในการประกอบอาหารไทย สูงขึ้นจากเดิม 20 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม และยังหาซื้อยากอีกด้วย จึงอาจทำให้อาหารที่ต้องใช้กะทิเป็นส่วนประกอบจะมีราคาสูงขึ้น

ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาหารแช่อิ่ม หรืออาหารกระป๋องที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเพื่อการส่งออกจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่วนกลุ่มที่ใช้น้ำตาลโควตาในประเทศก็หาซื้อยาก และบางครั้งต้องซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาปกติ จึงต้องพิจารณาปรับราคาขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับราคาน้ำมันปาล์มที่ราคาสูงขึ้นขวดละ 9 บาท จะส่งผลกระทบมากต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือแม่ค้า พ่อค้า รายย่อยมากกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องทอดอาหาร จะใช้วิธีการทอดแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช้น้ำมัน แต่กลุ่มร้านอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ร้านขายกล้วยทอด ปาท่องโก๋ หรือทอดขนมขาย จะกระทบมาก ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสินค้าที่ซื้อกินในชีวิตประจำวัน หรืออาหารชาวบ้าน ต้องปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 5%

นอกจากนี้ ค่าแรงที่ปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2554 เป็นต้นไป ทำให้ต้นทุนค่าแรงของผู้ประกอบการปรับเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนค่าแรงในภาคอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็น 0.4-1% ของต้นทุนรวม จึงไม่ได้กระทบมากเท่ากับอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะนี้ผู้ประกอบการตลอดจนต้นทุนด้านพลังงาน เช่น ราคาน้ำมัน ก็กระทบต่อค่าขนสินค้าอย่างมาก ซึ่งต้นทุนด้านโลจิสติกส์คิดเป็น 25% ของต้นทุนทั้งหมด ก็มีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้

“ในช่วงไตรมาส 2 น่าจะเห็นผู้ประกอบการเริ่มปรับราคาสินค้าขึ้นบ้าง เพราะเริ่มแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว ซึ่งจะขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับสินค้าแต่ละประเภท ส่วนราคาสินค้าส่งออกก็ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งด้วย และเชื่อว่าคู่แข่งน่าจะขึ้นราคาเหมือนกัน เพราะน่าจะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบเหมือนกัน ปีนี้ผู้ประกอบการคงจะขายของได้กำไรน้อยลงแทบทุกประเภท”

ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้มีสินค้า 7 รายการ ที่เตรียมปรับขึ้นราคา ได้แก่ 1.นมสดพร้อมดื่ม 2.กระดาษพิมพ์และเขียน กระดาษทิชชู กระดาษลูกฟูก 3.ยางรถยนต์ 4.วัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก สายไฟฟ้า และสเตนเลส 5.ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ 6.ปุ๋ยเคมี และ 7.ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช

โดยสินค้าดังกล่าว ได้เสนอมายังกรมการค้าภายในเพื่อขอปรับขึ้นราคาหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แม้จะมีการขอความร่วมมือให้ตรึงราคาต่ออีก 3 เดือน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2554 ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ยังยืนยันว่าไม่สามารถตรึงราคาต่อได้ เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้น และไม่สามารถแบกรับภาระได้ต่อไป

ทั้งนี้ สินค้าที่ขอปรับราคาอยู่ระหว่างการประเมินต้นทุน และจะนำเสนอให้คณะอนุกรรมการที่ดูแลเป็นรายสินค้าพิจารณาว่าควรจะให้มีการปรับขึ้นราคาได้เท่าไร

สำหรับนมสดพร้อมดื่ม มีความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ปรับราคาน้ำนมดิบสูงขึ้นกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 ทำให้ต้นทุนน้ำนมดิบสูงขึ้น, สินค้ากลุ่มกระดาษ ต้นทุนราคาวัตถุดิบเยื่อกระดาษนำเข้า ยังคงตัวอยู่ในระดับสูง, สินค้ายางรถยนต์ ต้นทุนจากราคายางธรรมชาติยังคงมีราคาสูง จากการเกิดภัยธรรมชาติในกลุ่มพื้นที่เพาะปลูก

สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า และต้นทุนการผลิต ทั้งเศษเหล็ก เหล็กแท่งยาว เหล็กแท่งแบน ทองแดง และถ่านหิน มีแนวโน้มสูงขึ้นเกือบทุกรายการ, สินค้ายารักษาโรคและเวชภัณฑ์ คาดว่า ราคาจะสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ จากการกลั่นน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น, สินค้าปุ๋ยเคมี แนวโน้มราคาจะตึงตัวและสูงขึ้น และสินค้ายาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การนำเข้ามีแนวโน้มลดลงจากการที่จีนตั้งกำแพงภาษีส่งออกใหม่

ส่วนสถานการณ์จำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในเขตกรุงเทพฯ หลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกขวดละ 9 บาทเป็น 47 บาท ว่า การจำหน่ายส่วนใหญ่ยังมีราคาสูงกว่าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยตามตลาดสดมีการจำหน่ายถึงขวดละ 50-58 บาท และยังพบปัญหาตรึงตัวและขาดตลาดในหลายพื้นที่ โดยในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงจำกัดปริมาณซื้อให้ไม่เกินครอบครัวละ 1-3 ขวด ขณะที่ร้านค้าย่อยหลายแห่งไม่มีสินค้าจำหน่ายเลย โดยสาเหตุที่ยังมีการขายเกินราคา เนื่องจากต้นทุนต้นทุนที่รับจากร้านขายส่ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สูงมากถึงขวดละ 48-50 บาท

ทั้งนี้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหันไปซื้อน้ำมันพืชชนิดอื่นบริโภคแทน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน เนื่องจากมีราคาใกล้เคียงกัน ส่งผลให้น้ำมันถั่วเหลืองขวดเริ่มขาดตลาด และไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 มกราคม 2554 (วันนี้) นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอขอหลักการแนวทางในการแก้ปัญหาปาล์มตึงตัวและราคาสูงในระยะยาว 3 แนวทาง ได้แก่ 1.จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันพืชปาล์ม ซึ่งกำลังศึกษาว่าใช้โมเดลเหมือนจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

2.จัดระบบการค้าผลปาล์ม เน้นการเพิ่มจุดรับซื้อและลานเท ซึ่งเป็นเครื่องมือลดทั้งปัญหาแย่งซื้อจนราคาสูงเกินจริงและกดราคาเมื่อผลผลิตออกจำนวนมาก และตรวจเข้มงวดคุณภาพเพื่อป้องกันการใช้สารปนเปื้อน เช่น สารฟอร์มาลิน และนำกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และกฎหมายชั่งตวงวัดในการดูแลเรื่องน้ำหนักและปริมาณที่เป็นธรรม 3.บริหารสต๊อกคงคลังน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคจากเดิม 1.2 แสนตัน เป็น 1.5 แสนตัน โดยกรมการค้าภายในเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากปริมาณสต๊อกต่ำกว่า 1.2 แสนตันถือว่าวิกฤต ก็จะเสนอให้เพิ่มผลผลิตหรือนำเข้าปาล์มจากต่างประเทศมาทดแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น